กระแสความปังของตรุษจีนปีมังกรตามปฏิทินจีนมาแรง ขนาดพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ดยังได้รวบรวมคำว่า “มังกรจีน” (Chinese dragon) ใส่ไว้ในพจนานุกรมเป็นครั้งแรกเนื่องในโอกาสนี้
พจนานุกรมให้คำอธิบายศัพท์ไว้ 2 ประการ โดยประการแรกเป็นการอธิบายเกี่ยวกับรูปลักษณ์ทางกายภาพของมังกร ประการที่ 2 เป็นการอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของมังกรในเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยตามคติความเชื่อของชาวจีน
ภาพลักษณ์ของมังกรจีนแตกต่างจากมังกรของชาวตะวันตก ชาวจีนมีความเชื่อมานานนับหลายพันปีว่า มังกรคือตัวแทนของความเป็นสิริมงคล คุณสมบัติในแง่บวก รวมถึงความรุ่งเรืองมั่งคั่ง อำนาจวาสนาบารมี ความยิ่งใหญ่ ความแข็งแรง และคุณธรรมความดี
จวบจนปัจจุบัน อิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับมังกรยังไม่เสื่อมคลาย มีการสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปของสินค้าเพื่อเป็นของขวัญของที่ระลึกตอบสนองกระแสการบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน
รัศมีแห่งฮ่องเต้
นายเทียน เผิง เป็นทายาทรุ่นที่ 5 ผู้รับการถ่ายทอดงานหัตถกรรมงานปักผ้าปักกิ่ง หรืองานปักผ้าจักรพรรดิ ซึ่งจัดเป็นงานฝีมือวิจิตรยอดเยี่ยมหนึ่งในแปดแขนงของปักกิ่ง งานปักผ้านี้มีรูปมังกรเป็นองค์ประกอบหลัก และเปล่งประกายออร่าของกษัตริย์ด้วยสีสันสดใสของเส้นไหมและด้ายทอง สำหรับนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อคลุมมังกรของฮ่องเต้ในสมัยโบราณ งานปักผ้าปักกิ่งหลายชิ้นจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวัง และพิพิธภัณฑ์ศิลปะกรุงปักกิ่ง
เนื่องจากขาดแคลนผู้สืบทอดรุ่นใหม่ เขาจึงพยายามผสมผสานงานหัตถรรมโบราณนี้ให้เข้ากับงานศิลปะร่วมสมัย โดยทำงานคิดค้นการออกแบบใหม่ๆ ร่วมกับผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมสาขาอื่น เพื่อดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ ผลงานชิ้นหนึ่งที่ออกมาคือชุดของขวัญสำหรับตรุษจีนปีมังกร ประกอบด้วยขวดสุรา 1 ขวด เครื่องประดับเซรามิกรูปมังกรแบบพกพา และงานปักผ้าลายมังกร แต่ชุดของขวัญนี้มีจำนวนจำกัด
นายเทียน มองว่า ภาพวาดมังกรในงานปักเป็นมากกว่าแค่งานออกแบบ แต่ยังแสดงถึงมรดกวัฒนธรรมและสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
ผู้นำแฟชั่น
iiMedia Research รายงานว่า ถ้ามีผู้บริโภคเกือบร้อยละ 50 ที่เห็นว่าสินค้ามีคุณค่าควรแก่การสะสมและมีคุณค่าในแง่ความหมาย เท่านี้ก็ช่วยให้อุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมเติบโตอย่างรวดเร็วได้ และแก่นแท้ของวัฒนธรรมจีนยังคงเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อสินค้าเชิงสร้างสรรค์ในปัจจุบัน
“บิ๊ก ออเรนจ์” (Big Orange) นักออกแบบสินค้าเชิงสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรม ที่มีผู้ติดตามกว่า 1 แสน 6 หมื่นคนในสื่อโซเชียลซินาเว่ยปั๋ว ผลิต “กล่องสุ่มมังกร” ขายเป็นของขวัญเทศกาลตรุษจีน
มังกรของเขาเป็นงานหัตถกรรมแกะสลักจากไม้ มีผิวสีแดงเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศครึกครื้นของเทศกาล เป็นการตีความหมายของมังกรด้านสุนทรียศาสตร์แตกต่างจากโบราณที่มักแสดงภาพมังกรเครายาว เกล็ดสีทอง และดวงตาโตที่เคร่งขรึม “บิ๊ก ออเรนจ์” จงใจสร้างมังกรที่เรียบง่าย เพื่อให้รู้สึกว่ามันเป็นสัตว์เลี้ยงน่ารัก ที่นำมาความสุขมาให้
คอลเลกชันกล่องสุ่ม “12 นักษัตรจีน” เป็นผลงานชิ้นสำคัญอันหนึ่งในอาชีพของเขา โดยมีเป้าหมายดึงคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในภูมิปัญญาจีน
นักสังคมวิทยาวัฒนธรรมของจีนมองว่า จินตนาการอย่างต่อเนื่องของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในประเพณีวัฒนธรรม เมื่อประกอบกับ "เสรีภาพในการสร้างสรรค์" ซึ่งเกิดจากตลาดการบริโภควัฒนธรรมจีนที่กำลังขยายตัว จึงเป็นสมการ “หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง” กล่าวคือ ความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาวบวกกับการเติบโตของตลาดนำไปสู่การตีความมังกรที่หลากหลายนั่นเอง
สะพานเชื่อมวัฒนธรรม
นักวิจัยอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมของจีนระบุว่า พิพิธภัณฑ์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สามารถช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมเกี่ยวกับมังกรของจีน ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้จัดทำเข็มกลัดมังกร 5 สีออกจำหน่าย โดยได้แรงบันดาลใจจากมังกรในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งดูดุร้ายและกล้าหาญ รวมถึงจำหน่ายหมอนรองคอที่มีรูปลักษณ์สวยงามของมังกรในวัฒนธรรมหงซาน
ด้านหญิงแซ่ซู่ เล่าว่า เธอซื้อเข็มกลัดมังกรหลากสีทั้งตะกร้า เพราะว่าเข็มกลัดแต่ละอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเธอรู้สึกว่าได้เข้าถึงประวัติศาสตร์จีน
นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (The MET) ในนิวยอร์กได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อร่วมฉลองตรุษจีนปีมังกรเช่นกัน อันเป็นการเชื่อมวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่จิตวิญญาณของจีนผ่านสัญลักษณ์รูปมังกรได้อย่างดี
อ้างอิงข้อมูลจาก “Time-honored totem dragon takes on more meaning in modern day via reinvention of cultural legacy” ในโกลบอลไทมส์