เมื่อไม่นานนี้ ทีมสำรวจทางวิทยาศาสตร์จีน-ไทย ซึ่งเป็นนักวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ทางตอนเหนือของไทยในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก ลำปาง และลำพูน นำสู่การค้นพบฟอสซิลพืชยุคซีโนโซอิก (Cenozoic) รวมถึงตัวอย่างละอองเกสรและสปอร์ที่มีอายุราว 10 ล้านปี
การสำรวจข้างต้นระยะ 10 วัน คณะนักวิจัยได้ค้นพบซากฟอสซิลพืชสภาพดีมากกว่า 300 ชิ้น และตัวอย่างละอองเกสรและสปอร์มากกว่า 50 รายการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพืชวงศ์ลิ้นมังกร วงศ์ถั่ว วงศ์ก่อ และวงศ์น้อยหน่า ขณะเดียวกัน มีการตรวจสอบพืชพันธุ์ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกัน
หวงเจี้ยน นักวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์ ผู้นำทีมสำรวจ กล่าวว่า ด้วยอิทธิพลร่วมจากการแปรสัณฐานของแผ่นธรณีและภูมิอากาศแบบมรสุม ทำให้พืชพันธุ์ในพื้นที่ตอนเหนือของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในยุคซีโนโซอิก โดยการค้นพบทั้งหมดมีคุณค่าด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก
นอกจากนั้น ซากฟอสซิลพืชยุคซีโนโซอิกในเอเชียเขตร้อนมีความสำคัญต่อการศึกษาต้นกำเนิดของพืชพันธุ์ในเอเชียตะวันออก แต่มีการค้นพบซากฟอสซิลเหล่านี้น้อยมาก เนื่องด้วยตกอยู่ภายใต้การปกคลุมของพืชพันธุ์ กอปรกับรากฐานการวิจัยทางบรรพพฤกษศาสตร์ยังไม่แข็งแรง
อนึ่ง การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ร่วมกันของสองประเทศครั้งนี้ได้มอบหลักฐานสำคัญสำหรับการวิจัยความหลากหลายและวิวัฒนาการของพืชพันธุ์ในเอเชียเขตร้อน รวมถึงวางรากฐานความร่วมมือในอนาคตระหว่างสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว