xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีขับขี่อัจฉริยะของหัวเว่ยเป็นต้นเหตุรถซีดานไฟฟ้า Avatr 12 Luxeed S7 เอสยูวี Aito M9 ผิดนัดส่งมอบกันระนาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พื้นที่จัดแสดงของบริษัทหัวเว่ยในงานแสดงรถยนต์ที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือน เม.ย.ปี 2564 - แฟ้มภาพ : รอยเตอร์
จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของจีน 3 ค่ายจำต้องเลื่อนการส่งมอบรถรุ่นสำคัญ จากปัญหาการผลิตหน่วยประมวลผลการขับขี่อัจฉริยะของบริษัทหัวเว่ย

หน่วยประมวลผลของหัวเว่ย ที่เรียกกันว่า เอ็มดีซี 810 เป็นขุมพลังขับเคลื่อนระบบช่วยเหลืออัจฉริยะต่างๆ สำหรับผู้ขับรถ และเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้หัวเว่ยประสบความสำเร็จตามความมุ่งมั่นในการก้าวผงาดขึ้นเป็นผู้จัดหาซอฟต์แวร์และชิ้นส่วนประกอบรายใหญ่สำหรับสมาร์ทอีวี นอกจากเหนือจากการเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำระดับโลกแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยของบุคคลใกล้ชิดกับเรื่องนี้ 5 คน หัวเว่ยขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบอันหนึ่งสำหรับการผลิตเอ็มดีซี 810 จึงไม่มีติดตั้งให้รถของบริษัทคู่สัญญา

ส่งผลกระทบต่อรถ 3 รุ่นที่เพิ่งเปิดตัวในไตรมาสที่ 4 ปีก่อน ได้แก่ รถซีดานรุ่นอวทาร์ 12 ของฉางอันออโต้ ซีดานลักซีด เอส 7 ของเชอรี่ออโต้ และรถอเนกประสงค์ไอโต้ เอ็ม 9 ของเซเรสค่ายผู้ผลิตรถอีวีรายย่อยของจีน

ฉางอัน และเชอรี่เป็นหุ้นส่วนกับหัวเว่ยในการพัฒนาแบรนด์อีวีระดับพรีเมียม โดยค่ายรถทั้งสองได้ร้องเรียนและกำลังเจรจากับหัวเว่ยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

อวทาร์ 12 มีราคาตั้งแต่ 3 แสน 8 ร้อยหยวนื (ราว 1 ล้าน 5 แสนบาท) มียอดสั่งซื้อมากกว่า 2 หมื่นคัน ณ วันที่ 1 ธ.ค. ตามข้อมูลของบริษัท

นายหลี่ เผิงเฉิง รองประธานบริษัทอวทาร์ ในเครือของฉางอัน กล่าวในงานอีเวนต์แห่งหนึ่งว่า ความท้าทายในการจัดหาชิ้นส่วนประกอบหลักเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การส่งมอบรถยนต์ล่าช้าออกไปโดยเฉลี่ย 2 สัปดาห์ แต่มิได้เอ่ยชื่อหัวเว่ย โดยอวทาร์วางแผนชดเชยให้ผู้ซื้อมากถึง 1 หมื่น 5 พันหยวน (ราว 7 หมื่น 5 พันบาท) สำหรับการส่งมอบล่าช้า

ลักซีด เอส 7 อีวีรุ่นแรกของแบรนด์ลักซีดของเชอรี่มียอดสั่งซื้อราว 2 หมื่นคัน ณ วันที่ 28 พ.ย. มีราคาตั้งแต่ 249,800 หยวน (ราว 1 ล้าน 2 แสนบาท) โดยทางบริษัทระบุว่า ผู้ซื้อจะได้รับเงินคืนสูงสุด 1 หมื่นหยวน (ราว 5 หมื่นบาท) หากไม่ได้รับรถตามสัญญา แบรนด์ลักซีดเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างเชอรี่กับหัวเว่ย เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นายริชาร์ด อี้ว์ กรรมการบริหารของหัวเว่ยคุยว่า เอส7 จะทุบซีดานไฟฟ้ารุ่นเอสของค่ายเทสลาทั้งด้านประสิทธิภาพและราคาที่ถูกกว่า

ส่วนรถเอสยูวีไอโต้ เอ็ม 9 ของเซเรสต้องพลาดเป้าหมายส่งมอบรถชุดแรก 2 พันคันที่เคยกำหนดไว้ภายในวันที่ 26 ม.ค. รถรุ่นนี้มีราคาตั้งแต่ 469,800 หยวน (ราว 2 ล้าน 3 แสนบาท)

รถซีดานไฟฟ้า อวทาร์ 12 ของฉางอันค่ายผู้ผลิตรถสัญชาติจีนเปิดตัวในงานแสดงรถยนต์ระดับโลก ไอเอเอ โมบิลิตี (IAA Mobility) 2023 ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี - ภาพ : เว็บไซต์ CarNewsChaina.com
ทั้งนี้ รถซีดานไฟฟ้าแบรนด์อาร์กฟ็อกซ์ (ARCFOX) ในเครือบริษัทบีเอไอซี คือ อัลฟาเอส (Alpha S) ซึ่งเปิดตัวในปี 2564 ก็ใช้เอ็มดีซี 810 ด้วย แต่แหล่งข่าวระบุว่า การขาดแคลนการจัดส่งมีผลกระทบต่อการผลิตอัลฟาเอสในช่วงที่ผ่านมา

ด้านหัวเว่ย และค่ายรถที่เกี่ยวข้องยังไม่ออกมาแถลงใดๆ ต่อรายงานข่าวดังที่แหล่งข่าวกล่าวอ้างนี้ ซึ่งหากเป็นความจริงก็นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่หัวเว่ยมีแผนแยกหน่วยธุรกิจโซลูชันยานยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Automotive Solution - IAS) ซึ่งก่อตั้งมานาน 4 ปี จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ และกำลังมองหานักลงทุนมาสนับสนุน โดยฉางอันเล็งถือหุ้นร้อยละ 40


นักวิเคราะห์ชี้ว่า บริษัทผู้ผลิตรถอีวีในจีนแสวงหาความร่วมมือกับหัวเว่ย เนื่องจากคุณสมบัติการขับขี่อัจฉริยะที่เอ็มดีซี 810 นำเสนอ ซึ่งรวมถึงการขับขี่ระบบอัตโนมัติบนทางหลวงและช่วยนำทางผู้ขับรถออกจากการจราจรที่ติดขัด คล้ายกับระบบออโต้ไพลอต ของเทสล่าในอเมริกาเหนือ ถือเป็นจุดขายสำคัญท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดรถยนต์แดนมังกร ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในโลก


จาก "Chinese automakers hit by production issues with Huawei computing unit, sources say" ในรอยเตอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น