xs
xsm
sm
md
lg

สายไปไหม? เซี่ยงไฮ้ขยับแก้ปัญหาการส่งข้อมูลข้ามพรมแดน ค่ายรถเทสลาและปอร์เช่เข้าร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โรงงานกิกะแฟกทอรีของบริษัทเทสลาแห่งอเมริกาในนครเซี่ยงไฮ้ -ภาพ : VCG
เซี่ยงไฮ้นครศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมโดดเด่นของจีนเตรียมประกาศกฎข้อบังคับในการส่งข้อมูลข้ามพรมแดนเดือน มี.ค.นี้ หวังแก้ไขปัญหาหงุดหงิดรำคาญใจของบริษัทต่างชาติที่มีมานาน จนเกรงกันว่าอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต่างชาติถอนการลงทุน
 
ตามแผนการนั้น จะมีการประกาศรายการข้อมูล ซึ่งได้รับอนุญาตให้ไหลไปต่างประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัดและข้อมูลที่ต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยข้อมูลภายในเขตการค้าเสรีหลินก่างของนครเซี่ยงไฮ้ในเขตผู่ตง จะถูกแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ “ข้อมูลทั่วไป” (General data) สามารถถ่ายโอนไปต่างประเทศได้อย่างอิสระ “ข้อมูลสำคัญ” (important data) สามารถแชร์ได้โดยผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของนครเซี่ยงไฮ้ และ “ข้อมูลหลัก” (Core data) จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดที่สุดและต้องจัดเก็บบนเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในประเทศจีนเท่านั้น
 
นายหลู่ เซิน หัวหน้าฝ่ายการจัดการข้อมูลของคณะกรรมการบริหารเขตการค้าเสรีหลินก่าง เปิดเผยในการประชุมฟอรั่มเมื่อต้นเดือนว่า ภายใต้การอุปถัมภ์ของกระทรวงต่างๆ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อรวบรวมเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนจากบริษัทชั้นนำในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดทำรายการข้อมูลทั้ง 3 ประเภท ซึ่งจะครอบคลุมข้อมูลที่เป็นของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และผู้พัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ สถาบันการเงิน บริษัทชิปปิ้ง เทรดเดอร์ และบริษัทผู้ผลิตยา ทั้งหมดนี้เป็นภาคธุรกิจเสาหลักภายในเขตการค้าเสรี

บริษัทเทสลา บริษัทสาขาจำหน่ายในจีนของปอร์เช่ และกิจการร่วมค้าซึ่งมีต่างชาติเป็นหุ้นส่วนของเอสเอไอซี มอเตอร์ อยู่ในหมู่บริษัทรถยนต์ 14 แห่งที่ร่วมร่าง จากการเปิดเผยของเจี่ยฟั่งเดลี สื่อที่รัฐให้การสนับสนุน และเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในคณะกรรมการบริหารเขตการค้าเสรีหลินก่าง


แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดหลักเกณฑ์การแบ่งประเภทข้อมูล แต่นายหลู่ให้คำมั่นว่า จะมีการเพิ่มข้อมูลประเภททั่วไปเข้าไปในรายการอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะเดียวกับที่จีนลดรายการของอุตสาหกรรมต้องห้ามสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
 

บริษัทเทสลา ฝ่ายขายในจีนของปอร์เช่ และกิจการร่วมค้าของเอสเอไอซี มอเตอร์ อยู่ในหมู่บริษัทรถยนต์ 14 แห่ง ที่ร่วมจัดทำข้อมูล - ภาพ : ซินหัว
จากผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้เมื่อปีที่แล้ว นโยบายดิจิทัลของจีนยังคงสร้างปัญหาให้นักลงทุนต่างชาติ โดยร้อยละ 70 เห็นว่า ข้อบังคับให้ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศที่ข้อมูลนั้นเกิดขึ้น (data localization) และข้อกำหนดด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อื่นๆ คืออุปสรรค

นอกจากนั้น ร้อยละ 60 ไม่พอใจความไม่คงเส้นคงวาในการตีความและการบังคับใช้ และร้อยละ 48 ระบุว่า กฎหมายดิจิทัลและความมั่นคงด้านข้อมูลของจีนเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานของบริษัท


ด้านนักวิเคราะห์ต่างยินดีกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ก็เห็นว่า รัฐบาลกลางของจีนต้องเข้าร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

นายเจมส์ ซิมเมอร์แมน หุ้นส่วนในสำนักงานกรุงปักกิ่งของเพอร์กินส์คอย (Perkins Coie) บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศมองว่า การประกาศกฎเกณฑ์การรับส่งข้อมูลไม่อาจกระตุ้นนักลงทุนต่างชาติได้ และอาจเป็นมาตรการที่สายเกินไป ด้วยซ้ำ อีกทั้งก็ไม่ได้แก้ปัญหาร้อนแรงหลายเรื่องที่มีอยู่ โดยถ้าไม่นับเรื่องความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว การเน้นเรื่องความมั่นคงของชาติมากจนเกินไปทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจและบรรยากาศทางธุรกิจได้


ทั้งนี้ ในปี 2566 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีนดิ่งลงร้อยละ 8 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของบริษัทต่างชาติขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.4 ขณะที่จีดีพีของนครเซี่ยงไฮ้ในปีที่แล้วอยู่ที่ 665,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการชะลอการเติบโตที่ร้อยละ 5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 5.2 และต่ำกว่าเป้าหมายของทางการเซี่ยงไฮ้ที่ร้อยละ 5.5 จากผลกระทบที่ยืดเยื้อของมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ความเชื่อมั่นที่อ่อนแอ และการอพยพของชาวต่างชาติ


นอกจากนั้น เซี่ยงไฮ้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในปีที่แล้วจำนวน 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2565 ที่ 23,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โมเดอร์นาบริษัทยายักษ์ใหญ่ของอเมริกา เป็นบริษัทหนึ่งที่ให้คำมั่นว่าจะลงทุนครั้งใหม่ในนครแห่งนี้


ที่มาจาก “Tesla, Porsche chip in as Shanghai seeks to fix ‘sore point’ for foreign firms with 3-tier cross-border data flow rules” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์


กำลังโหลดความคิดเห็น