xs
xsm
sm
md
lg

"หลิว เจี้ยนเชา" มาแรง ตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศจีนคนต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายหลิว เจี้ยนเชา (กลาง) ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานระหว่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567 ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันหนึ่งวัน - ภาพ : เอพี
นายหลิว เจี้ยนเชา ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางการทูตของพรรคคอมมิวนิสต์จีน วัย 59 ปี เป็นตัวเต็งในสายตาของเหล่านักวิเคราะห์ว่าเขาจะได้คุมกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อจากนายหวัง อี้ ซึ่งเชื่อกันว่ากลับมารับตำแหน่ง รมว.แค่ชั่วคราว

การไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนายหลิว ในช่วงเดียวกับที่ไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมายิ่งทำให้เหล่านักวิเคราะห์มั่นใจว่าดูคนไม่ผิดแน่


นายหลิว นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสสุดของจีนที่ไปเยือนสหรัฐฯ หลังจากการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่นครซานฟรานซิสโกเมื่อ 2 เดือนก่อน

การเยือนกรุงวอชิงตัน นครนิวยอร์ก และซานฟรานซิสโกระหว่างวันที่ 8-13 มกราคม นายหลิว ได้พบปะกับนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ ของสหรัฐฯ ตลอดจนตัวแทนภาคเอกชนหลากหลายสาขา รวมถึงนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรซ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และได้เข้าร่วมการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการกับเอเชียโซไซตี (Asia Society) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองของสหรัฐฯ ด้วย


ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันดูเหมือนเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการมาเยือนครั้งนี้ โดยก่อนการเลือกตั้งซึ่งมีเดิมพันสูงของไต้หวันเพียงหนึ่งวัน นายหลิว ย้ำกับนายบลิงเคนว่า สหรัฐฯ และจีนจำเป็นต้องพบกันครึ่งทาง

ในสุนทรพจน์ต่อสภาความมั่นคงระหว่างประเทศ (CFR) นายหลิว ระบุว่า ประเด็นไต้หวันคือแก่นแท้ของผลประโยชน์หลัก และต้องไม่ก้าวข้ามเส้นสีแดง โดยปักกิ่งยึดถือคำกล่าวของสหรัฐฯ อย่างจริงจังที่ว่าไม่สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน และหวังว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะเคารพคำมั่นสัญญา


นายหลิว เจี้ยนเชา ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานระหว่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567 – ภาพ : ซินหัว/ ไชน่าเดลี
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ไม่ให้การยอมรับไต้หวันในฐานะรัฐเอกราช แต่ก็คัดค้านการดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียวในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เขายังให้ความมั่นใจกับภาคธุรกิจอเมริกันว่า จีนจะไม่ต่อสู้ในสงครามเย็นหรือสงครามร้อนกับใครทั้งนั้นและการแซงหน้าสหรัฐฯ มิใช่เป้าหมายของจีน  


นายนีล โทมัส นักวิจัยการเมืองจีนประจำศูนย์วิเคราะห์ประเทศจีนของสถาบันนโยบายสังคมเอเชียมองว่า นายหลิวดำเนินการทูตอย่างหลักแหลม โดยพยายามสร้างความมั่นใจกับวอชิงตันว่า ปักกิ่งจะไม่ตอบโต้แข็งกร้าวต่อผลการเลือกตั้งไต้หวัน แต่จะยังคงรักษาจุดยืนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่อ้างอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวัน


ปักกิ่งไม่สบายใจที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ซึ่งสนับสนุนการประกาศอิสรภาพจากจีน มีแนวโน้มชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 แต่เป็นฝ่ายนิ่งเงียบไม่ออกมาตอบโต้สักเท่าใด การกำหนดเวลาการเยือนของนายหลิว อย่างประจวบเหมาะกับผลการเลือกตั้งของไต้หวันจึงเป็นความเคลื่อนไหวที่ฉลาดในความเห็นของนาย เสารภ คุปตะ (Sourabh Gupta) ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันศึกษาจีน-อเมริกา เพราะเท่ากับเป็นการเน้นย้ำว่า มีการเปิดช่องทางการสื่อสารในระดับสูงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

น.ส.อวิ้น ซุน (Yun Sun) ผู้อำนวยการโครงการจีนประจำศูนย์สติมสันในกรุงวอชิงตันประทับใจนายหลิว ที่เป็นคนพูดจาชัดเจน มีคารมคมคาย ภาษาอังกฤษยอดเยี่ยม มีออร่าแห่งความมั่นใจ และรู้ปัญหาต่างๆ อย่างดี  และมองว่าการเยือนของนายหลิวครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามร่วมกันระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันในการส่งสารว่า ชาติทั้งสองยังคงมีการติดต่อสื่อสารกันในเรื่องไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด หรืออุบัติเหตุใดๆ


“นายหลิวคือตัวเต็ง รมว.ต่างประเทศของจีนคนใหม่และความสำเร็จที่ปรากฏในการเยือนสหรัฐฯ จะช่วยให้เขาคว้าตำแหน่งนี้” นายโทมัส ระบุ

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญของจีนหลายคนเชื่อว่า การแต่งตั้งนายหลิว เป็น รมว.ต่างประเทศที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้คือเหตุผลที่เขาได้ไปเยือนสหรัฐฯ


นายหวัง อี้ วัย 70 ปี ลาออกจากตำแหน่งรมว.ต่างประเทศเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2565 เพื่อไปรับตำแหน่งที่สูงกว่าในกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ต้องกลับมาอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมปี 2566 หลังจาก รมว.คนใหม่คือนายฉิน กัง ถูกปลดด้วยเหตุผลที่ปักกิ่งไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นทางการ 


จาก “US visit firms speculation Liu Jianchao will be China's next foreign minister.” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น