รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพยายามยกระดับการแข่งขันด้านพลังงานสะอาดกับจีนด้วยสารพัดวิธี แต่หมดท่า เพราะผลิตภัณฑ์ราคาถูกจากแดนมังกรเป็นกลยุทธ์ที่ฆ่าไม่ตาย
ขณะนี้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ กำลังทุ่มเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ให้โรงงานและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานสะอาด แต่การลงทุนดังกล่าวอาจถูกบั่นทอนลงเยอะ เมื่อเจอกับผลิตภัณฑ์ราคาถูกของจีนที่ครอบงำตลาดโลก
นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังลงสนามแข่งขันช้าไป เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านพลังงานสะอาดที่จีนทำมาในช่วง 10 ปีที่แล้ว ซึ่งแค่ในปี 2566 รัฐบาลจีนจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนด้านนี้มากกว่าสหรัฐฯ ถึง 4 เท่า อีกทั้งจีนยังได้สร้างห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นไปทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว
เวลานี้ข้อต่อหลักๆ ซึ่งเชื่อมห่วงโซ่อุปทานถูกจีนผูกขาดแต่ผู้เดียวอย่างได้ผล
“แผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดในโลกมีจีนเป็นผู้ผลิตราวร้อยละ 80 รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) จีนผลิตเกือบร้อยละ 60 และแบตเตอรี่รถอีวีจีนผลิตกว่าร้อยละ 80” หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อเร็วๆ นี้
ยิ่งไปกว่านั้น แร่ธาตุหายาก (rare earth minerals) ซึ่งเป็นวัสดุเบื้องต้นที่จำเป็นในการผลิตโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด เช่น แบตเตอรี่รถอีวี และแผงโซลาร์เซลล์ จีนก็เป็นผู้ผลิตร้อยละ 60 และแปรรูปถึงเกือบร้อยละ 90 ของแร่ธาตุหายากในโลก
อุปสรรคในการลงสนามแข่งขันกับพญามังกรใหญ่มหึมา แต่สหรัฐฯ พยายามหาช่องทางก้าวข้าม กลยุทธ์เบื้องต้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากจีน เพื่อปกป้องผู้ผลิตของสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถขายสินค้าในราคาถูกมากพอที่จะแข่งขันกับจีนได้
นอกจากนั้น ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์ รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีแนวโน้มขึ้นภาษีนำเข้ารถอีวีและสินค้าเชิงกลยุทธ์อื่นๆ จากจีน ในการทบทวนการจัดเก็บภาษี ที่ริเริ่มในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ในขณะที่สภาคองเกรสยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไบเดนในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ให้ขึ้นภาษีนำเข้ารถอีวีและเซมิคอนดักเตอร์จากจีน
ปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยของรถอีวีจีนอยู่ที่ประมาณ 28,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9 แสน 9 หมื่นกว่าบาท) เปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยรถอีวีในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 47,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้าน 6 แสนกว่าบาท)
ผู้บริหารของบริษัทและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ บางคนระบุว่า จีนละเมิดกฎการค้าด้วยการตั้งราคาจำหน่ายต่ำกว่าต้นทุนเพื่อกำจัดคู่แข่ง (predatory pricing) ในการตีตลาด การมุ่งผลิตสินค้ามากจนล้นเกินความต้องการของคนในประเทศของจีนก่อความกังวลให้กับชาติอื่นๆ ซึ่งก็มีเหตุผล โดยคาดกันว่าจีนน่าจะส่งแผงโซลาร์เซลล์ รถอีวี และสินค้าอื่นๆ ที่ล้นเกินออกสู่ตลาดโลกในราคาลดเป็นพิเศษ
มาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความตึงเครียด ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังต้องพึ่งสินค้านำเข้าจากจีนอยู่อีกมากในการสร้างเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานสะอาด โดยผู้ผลิตของสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบ เมื่อนำเข้าสินค้าจากจีนแพงขึ้น
นอกจากนั้น นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ดังกล่าวไม่อาจห้ามชาติอื่นๆ ซื้อสินค้าราคาถูกจากจีนได้ ซึ่งหมายความว่า ในที่สุดแล้วจีนยังคงเป็นผู้กำหนดราคาในระดับโลกอยู่ดี โดยที่วอชิงตันมีส่วนร่วมหรือไม่ก็ได้ในตลาดโลกที่สหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันกับจีน
อ้างอิงข้อมูลจาก “U.S. vs. China: The Battle for Clean Energy Supremacy” ใน Oilprice.com