บีวายดี ( BYD) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ของจีนมีแผนเลิกผลิตแบตเตอรี่แบบถุง (pouch-type batteries) ที่ใช้ในรถไฮบริดขายดีที่สุดของบริษัท โดยกำลังหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้อวิตกกังวลด้านความทนทานและความเสี่ยงที่แบตเตอรี่แบบนี้อาจเกิดการรั่วไหล จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวใกล้ชิดกับเรื่องนี้ 3 คน
แหล่งข่าวดังกล่าวระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้ว บีวายดีเริ่มเปลี่ยนสายการผลิตเซลล์แบตเตอรี่แบบถุง มาเป็นการผลิตเซลล์แบตเตอรี่แบบแท่ง (prismatic batteries) ที่โรงงาน 2 แห่งในมณฑลส่านซี และเจ้อเจียง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการผลิตเซลล์แบตเตอรี่แบบถุงที่โรงงานแห่งที่ 3 ในมณฑลชิงไห่ เพื่อลดการหยุดชะงักในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของยอดการขายรถของบีวายดีทั่วโลกในปีที่แล้ว แต่มีแผนจะเปลี่ยนการผลิตเช่นกัน โดยจะยุติการผลิตเซลล์แบตเตอรี่แบบถุงภายในต้นปี 2568
ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเรื่องแบตเตอรี่ดังกล่าวจะเป็นปํญหาท้าทายสำหรับบีวายดี ซึ่งมีตลาดผู้ซื้อหลักอยู่ในประเทศจีน โดยรถไฮบริดของบีวายดีส่วนใหญ่ขายที่นี่ อีกทั้งปัญหาท้าทายนี้ยังเกิดขึ้นในขณะที่บีวายดีพยายามส่งเสริมการส่งออกรถไปต่างประเทศ เพื่อแข่งกับค่ายเทสลา
ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานจากหน่วยงานกำกับดูแลของจีน หรือจากบีวายดีว่า รถของบีวายดีแบตเตอรี่รั่ว แต่บีวายดีและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมบางคนเชื่อว่า แบตเตอรี่แบบถุง ซึ่งเซลล์ถูกห่อด้วยถุงโลหะบางๆ ที่ทำจากฟิล์มลามิเนตอะลูมิเนียม มีโอกาสสูงที่จะเกิดการรั่วไหลของอิเล็กโทรไลต์
แหล่งข่าวทั้งสามระบุว่าในกรณีที่รุนแรง อิเล็กโทรไลต์ที่รั่วอาจทำให้แบตเตอรี่ไหม้หรือระเบิดได้
บริษัทผู้ผลิตรถคู่แข่งบางรายได้เน้นย้ำเรื่องความเสี่ยงของแบตเตอรี่แบบถุงมาแล้ว โฟล์คสวาเกนระบุในปี 2564 ว่า บริษัทกำลังถอยออกจากแบตเตอรี่เช่นนี้ ขณะที่อีลอน มักส์ ซีอีโอของเทสลาระบุว่า บริษัทขอ “แนะนำอย่างยิ่ง” ไม่ให้ใช้แบตเตอรี่แบบนั้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิในการจัมป์แบตเตอรี่จะสูงขึ้นอย่างน่าอันตราย
ในปี 2565 บีวายดีได้เรียกคืนรถไฮบริดรุ่น “ถัง ดีเอ็ม-ไอ” (Tang DM-i) ซึ่งใช้แบตเตอรี่แบบถุงกว่า 6 หมื่นคัน โดยได้รายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลว่า ชุดแบตเตอรี่มีข้อบกพร่อง ที่อาจทำให้ “เกิดการหลบหนีความร้อน” (thermal runaway)
ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดใช้แบตเตอรี่แบบหลักๆ อยู่ 3 แบบ ได้แก่ แบบรูปทรงกระบอก (cylindrical) และอีก 2 แบบดังกล่าว โดยแบบทรงกระบอกและแบบแท่งนั้นหุ้มด้วยวัสดุแข็ง ส่วนแบตเตอรี้แบบถุงถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางกับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แท็บเล็ต และเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่า แต่เสี่ยงต่อการกัดกร่อนและอาจพังได้ง่าย
บีวายดีเปิดตัวเทคโนโลยีไฮบริดที่พัฒนาขึ้นเองในปี 2564 ซึ่งรวมทั้งชุดแบตเตอรี่ที่ประกอบด้วยเซลล์แบบถุง ซึ่งบีวายดีระบุว่า มีประสิทธิภาพการชาร์จและการคายประจุไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งรถไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) ต้องการใช้เป็นพิเศษ โดยบีวายดีใช้แบตเตอรี่แบบนี้ในรถ PHEV ที่ผลิตทุกรุ่น โดยรถ PHEV มีสัดส่วนร้อยละ 48 ของยอดขายรถทั้งหมด 3 ล้านคันของบีวายดีในปี 2566 และรถเกือบ 3 ล้านคันเหล่านี้ขายในจีน
ด้านบีวายดียังมิได้ออกมาแสดงความเห็นต่อการเปิดเผยของแหล่งข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด
ที่มา : รอยเตอร์