xs
xsm
sm
md
lg

จีนทดลองปลูกมันฝรั่งโดยใช้ ‘เมล็ดพันธุ์จากทริปอวกาศ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะนักวิจัยของจีนเริ่มทดลองปลูกเมล็ดพันธุ์มันฝรั่ง 66,500 เมล็ด ที่เคยถูกนำขึ้นสู่อวกาศบนยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-16 (Shenzhou-16) และอยู่ในอวกาศนานกว่า 180 วัน

จางหลินไห่ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีของบริษัทซีเซิน โปเตโต อินดัสทรี จำกัด (Xisen Potato Industry Co.) กล่าวว่าเมล็ดพันธุ์ที่เหนือกว่าจะถูกคัดเลือกและประเมินเพิ่มเติม หลังเมล็ดผ่านกระบวนการงอก เพาะปลูก และย้ายปลูก

การปรับปรุงพันธุ์พืชในอวกาศ (space breeding) หมายถึงการนำเมล็ดพันธุ์พืช หรือสายพันธุ์พืชไปสัมผัสกับรังสีคอสมิกและสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศสำหรับกลายพันธุ์ยีน เพื่อสร้างพืชชนิดพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิม เช่น มีระยะเวลาการเจริญเติบโตสั้นลง ให้ผลผลิตสูงขึ้น และต้านทานโรคได้ดีขึ้น

คณะนักวิจัยจากศูนย์ในอำเภอซางตู เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน วางแผนปรับปรุงพันธุ์มันฝรั่งที่ทนทานต่อความเค็มและความเป็นด่าง และให้ผลผลิตสูงกว่า ผ่านการทดลองที่ใช้เทคโนโลยีการแก้ไขยีนขั้นสูง เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม

จางเสริมวิธีการดังกล่าวมีศักยภาพในการลดวงจรการปรับปรุงพันธุ์จากกว่าทศวรรษให้เหลือเพียงไม่กี่ปี

นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่บริษัทส่งเมล็ดพันธุ์ขึ้นสู่อวกาศ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 เมล็ดพันธุ์มันฝรั่ง 20,000 เมล็ดที่ถูกคัดเลือกได้ถูกส่งไปยังสถานีอวกาศของจีนผ่านภารกิจเสินโจว-14 (Shenzhou-14) และกลับสู่โลกหลังจากผ่านไป 182 วัน

ทั้งนี้ จีนได้ส่งเมล็ดพันธุ์พืชชุดแรก เช่น ข้าวและพริกไทย ขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 1987 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงพันธุ์พืชในอวกาศของประเทศ ซึ่งช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมามีการทดลองในอวกาศรูปแบบนี้กว่า 30 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์พืช ต้นกล้า และสายพันธุ์ ทำให้มีการเพาะพันธุ์พืชใหม่เกือบ 1,000 สายพันธุ์

ที่มา/ภาพสำนักข่าวซินหัว




กำลังโหลดความคิดเห็น