xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “ไต้หวันเป็นดินแดน-มณฑลของจีน” ตั้งแต่เมื่อไหร่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไล่ ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีไต้หวัน และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ปราศรัยหาเสียงใน นิว ไถเป่ย ซิตี้ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2024 (ภาพ รอยเตอร์)
การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานินิติบัญญัติแห่งไต้หวัน กำลังมาถึงในวันเสาร์ที่ 13 ม.ค.นี้ นับเป็นวันลุ้นระทึกของสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันครั้งใหญ่อีกครั้ง ตัวเก็งผู้อาจคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งนี้ที่ถูกจับตามากสุดคือ (วิลเลี่ยม) ไล่ชิงเต๋อ วัย 64 ปี ปัจจุบันเป็นรองประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) หรือหมินจิ้นตั่ง ซึ่งสนับสนุนอธิปไตยไต้หวัน ผู้นำจากพรรค DPP จึงไม่เป็นที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของจีน จีนต้องการผู้นำไต้หวันจากพรรคฝ่ายค้านก๊กมินตั๋ง ซึ่งได้ส่ง โหว โหย่วอี๋ นายกเทศมนตรีเมืองนิวไถเป่ย ลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะก๊กมินตั๋งยึดนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับจีนมาตลอด

ทางการปักกิ่งยังประกาศเตือนว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันครั้งนี้ เป็นการเลือกระหว่าง “สงคราม” และ “สันติภาพ” ขอให้ประชาชนในไต้หวันโปรดเลือก “ตัวเลือกที่ถูกต้อง”

ไล่ชิงเต๋อ ประกาศจุดยืนสู่ความสัมพันธ์จีน ว่าหากเขาขึ้นมาเป็นผู้นำไต้หวันจะรักษาสถานภาพปัจจุบัน (status quo) ระหว่างช่องแคบไต้หวัน (คือ มีอำนาจอธิปไตยโดยพฤตินัย (de facto sovereignty) และมีอัตลักษณ์ที่แยกจากจีน) และยังเปิดทางสานความสัมพันธ์กับจีนภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องเป็นการเจรจากันอย่างเท่าเทียมและศักดิ์ศรีเสมอกัน

ไล่ชิงเต๋อ ยังบอกว่า “สันติภาพที่ไร้อธิปไตย เป็นสันติภาพจอมปลอม เช่นเดียวกับสันติภาพในฮ่องกงตอนนี้ และสงครามจะไม่มีผู้ชนะ”

โหว โหย่วอี้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั๋ง แถลงในที่ประชุมข่าวเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2024 (ภาพ รอยเตอร์)
โฆษกจีนแถลงในวันพุธ (10 ม.ค.) ว่า ไล่ชิงเต๋อ เป็น “ตัวอันตรายร้ายแรง” ถ้าเขาได้ขึ้นสู่อำนาจก็จะเคลื่อนไหวกิจกรรมลัทธิแบ่งแยกดินแดนเพื่อผลักดัน “อิสรภาพไต้หวัน” ซึ่งจะนำความวุ่นวายมาสู่ช่องแคบไต้หวัน

ไม่กี่ปีมานี้จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงลั่นวาจาประกาศกร้าวบ่อยๆ ถึงการรวมชาติจีน นำไต้หวันสู่มาตุภูมิ โดยครั้งล่าสุดสี จิ้นผิงได้กล่าวระหว่างปราศรัยในวาระขึ้นปีใหม่ว่า “การรวมชาติจีน-ไต้หวัน เป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ในยามที่ประเด็นความขัดแย้งการเมืองช่องแคบไต้หวันกำลังร้อนกระฉูดขึ้นมาอีก มาย้อนรอยดูกันว่า “ไต้หวัน เป็นดินแดนหรือมณฑลของจีนมาตั้งแต่เมื่อไหร่”...

เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า “จีนสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน” ปรากฏขึ้นบนโลกใบนี้หลังจากที่พรรคก๊กมินตั๋ง พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองในจีนเมื่อปี 1949 โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้พิชิตชัยชนะและประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กรุงปักกิ่ง ส่วนผู้นำก๊กมินตั๋งผู้ปกครองสาธารณรัฐจีน (ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นในปี 1912 หลังราชวงศ์ชิงล่มสลาย) คือ ผู้นำเจียงไคเช็ค ได้ถอยไปตั้งหลักและย้ายรัฐบาลสาธารณรัฐจีนไปอยู่ที่เกาะไต้หวันโดยที่ยังถือว่าสาธารณรัฐจีนเป็นผู้ปกครองจีนทั้งหมดที่ชอบธรรม

จนกระทั่งในปี 1971 สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนของพรรคคอมมิวนิสต์ และ “หลักการจีนเดียว” (One China) ที่ในโลกนี้มี “หนึ่งจีน” เท่านั้น ดังนั้น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” จึงนั่งเก้าอี้สมาชิกยูเอ็นแทนที่ “สาธารณรัฐจีน”

สำหรับเรื่องของหลักการ “จีนเดียว” หรือ “หนึ่งจีน” จีนที่มีรัฐบาลอยู่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน (ในไทเป และในปักกิ่ง) ต่างฝ่ายต่างตีความหมายในฉบับของตน

แผนที่ “จังหวัดไต้หวัน” ของจีน สมัยจักรพรรดิกวงซี่ว์แห่งราชวงศ์ชิง (ภาพจาก https://zh.wikipedia.org/zh-cn/%E8%87%BA%E7%81%A3%E6%B8%85%E6%B2%BB%E6%99%82%E6%9C%9F)
การสถาปนาการปกครองจีนเหนือไต้หวันจากยุคโบราณ

“ไต้หวัน” ที่ชาวโลกตะวันตกเรียกว่า ‘ฟอร์โมซา’ (Formosa) จากคริสต์ศตวรรษที่ 16...ข้อมูลฝ่ายจีนระบุว่า จีนเข้าไปบุกเบิกอ้างอำนาจปกครองในดินแดนบนเกาะไต้หวันตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่ง (960-1249) โดยในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ ปี 1171 (หรือกว่า 850 ปีที่แล้ว) ได้ประกาศอำนาจปกครองเหนือหมู่เกาะเผิงหูอย่างเป็นทางการ และจัดให้หมู่เกาะเผิงหูเป็นหน่วยการปกครองของมณฑลฮกเกี้ยน (หรือฝูเจี้ยน) แต่อำนาจปกครองจีนมิได้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั้งเกาะ

จนกระทั่งปี 1683 (หรือ 340 ปีที่แล้ว) กองทัพราชวงศ์ชิง (ยุคจักรพรรดิคังซี) ได้นำกองกำลังบุกยึดเกาะไต้หวันและผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของจีน เกาะไต้หวันปรากฏอยู่ในแผนที่ของอาณาจักรแห่งจักรวรรดิชิง โดยมีสถานะเป็นจังหวัด(台湾府) ในมณฑลฮกเกี้ยน จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ปี 1885 ราชสำนักชิงได้ยกสถานะไต้หวันเป็น “มณฑล” ของจีน โดยมีนครไทเป เป็นเมืองเอกของมณฑล

ราว 10 ปีต่อมา ราชวงศ์ชิงแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก (1894-1895) ไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น *ต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทั้งพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามเรียกคืนอำนาจอธิปไตยจีนเหนือไต้หวันเพราะเห็นความสำคัญด้านความั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมืองและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ประกาศมาตลอดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และหลังจากที่สหประชาชาติรับรองจีนเป็นสมาชิก ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ก็ประกาศชัดเจนว่าไต้หวันจะต้องกลับมารวมชาติมาตุภูมิ

*อ้างอิงจากบทความ “จากฟอร์โมซาสู่อาณานิคมของญี่ปุ่น สถานะของไต้หวันในมุมมองของจีนก่อน ค.ศ.1945 โดย ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ตีพิมพ์ในหนังสือ “เหตุเกิดในราชวงศ์ชิง” สำนักพิมพ์ชวนอ่าน


กำลังโหลดความคิดเห็น