นักวิจัยจีนเริ่มภารกิจสํารวจทวีปแอนตาร์กติกาครั้งที่ 40 ด้วยเรือตัดน้ำแข็งขั้วโลกและเรือสํารวจเสวี่ยหลง-2 (Xuelong-2) โดยเริ่มเก็บตัวอย่างปลาหลายพันธุ์มาศึกษา
ทีมงานใช้อวนลากจับปลาที่ระดับความลึกใต้ผิวน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร เพื่อให้ได้ปลาหลายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในทะเลอามันด์เซน ทางตะวันตกของแอนตาร์กติกา
ปลาชนิดต่างๆ ที่อยู่ในท้องทะเลมีความสำคัญต่อระบบนิเวศใต้สมุทร ช่วยสร้างห่วงโซ่อาหาร โดยปลาเหล่านี้กินแพลงก์ตอน ขณะเดียวกันก็เป็นเหยื่อของสัตว์ใหญ่ อย่างเพนกวินและแมวน้ำ ดังนั้น การศึกษาการเจริญเติบโต การกระจายและความผันผวนของจํานวนปลาในทะเล จึงมีความสําคัญทางนิเวศวิทยาเป็นอย่างมาก
Wang Rui สมาชิกของทีมสํารวจจีน กล่าวว่า อวนที่จับปลาครั้งแรกได้ปลาหลายชนิด เช่น ปลาตะเกียงแอนตาร์กติก ซึ่งพบได้มากในบริเวณนี้ นอกจากนี้ ยังมีปลาอื่นๆ อีกหลายสายพันธุ์ โดยนอกจากปลาแล้ว นักวิจัยยังพบเคยแอนตาร์กติก (Antarctic Krill) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้จะถูกรวบรวมและนำไปจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์ต่อไป
การสำรวจครั้งนี้ นับเป็นภารกิจสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาครั้งที่ 40 ของจีน หลังออกจากสถานีจงซานเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2023 เรือสำรวจขั้วโลกเดินทางเป็นระยะทาง 3,000 ไมล์ทะเล โดยมาถึงจุดหมายปลายทางในวันที่ 4 ม.ค. 2024
อนึ่ง เรือเสวี่ยหลง-2 เป็นเรือที่มีความยาว 122.5 เมตร สามารถบรรทุกน้ำหนักได้กว่า 14,300 ตัน
ที่มา: China Media Group