xs
xsm
sm
md
lg

‘ดวงตาจักรวาลจีน’ ตรวจพบ ‘ส่วนโค้งแสงวาบ’ จากสัญญาณวิทยุปริศนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะนักดาราศาสตร์ตรวจพบส่วนโค้งของแสงวาบในแถบแสงของสัญญาณวิทยุปริศนา (FRB) เป็นครั้งแรกผ่านการใช้ฟาสต์ (FAST) กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบจานเดี่ยวขนาดใหญ่ที่สุด และตอบสนองเร็วที่สุดในโลก

สำหรับสัญญาณวิทยุปริศนาข้างต้นเป็นการปะทุของคลื่นวิทยุลึกลับที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่มิลลิวินาที ซึ่งได้รับการยืนยันในปี 2016 ว่ามีจุดกำเนิดมาจากจักรวาล แต่ยังไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับต้นกำเนิดของการปะทุดังกล่าว

กลุ่มนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยคณะนักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้นำเสนอการวิเคราะห์การเปล่งแสงวาบระหว่างดวงดาวของสัญญาณวิทยุปริศนา 20220912เอ (20220912A) ระหว่างการปะทุอย่างเข้มข้นในปี 2022

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสารไซแอนซ์ ไชน่า ฟิสิกส์ แมคคานิกส์ แอนด์ แอสโตรโนมี (Science China Physics, Mechanics & Astronomy) ระบุว่าส่วนโค้งของแสงวาบที่ตรวจพบนั้นเผยให้เห็นว่าการเปล่งแสงวาบอาจเกิดจากตัวกลางระหว่างดวงดาวที่แตกตัวเป็นไอออน หรือวัตถุที่เติมเต็มช่องว่างระหว่างดวงดาว

การค้นพบครั้งนี้ได้เปิดแนวทางใหม่ในการตรวจสอบตัวกลางของสัญญาณวิทยุปริศนาและการเคลื่อนที่แบบหมุนวนที่อาจเกิดขึ้นได้ของสัญญาณวิทยุปริศนา โดยคณะนักวิจัยยังเผยวิธีการตรวจจับส่วนโค้งของแสงวาบ ซึ่งอาจประยุกต์ใช้กับแหล่งที่มีการปะทุ หรือพัลซาร์ที่มีระยะห่างไม่สม่ำเสมอกันด้วย

เจมส์ คอร์เดส จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล กล่าวว่า วิธีการตรวจจับที่ใช้ในการศึกษานี้สามารถช่วยค้นหากาแล็กซีโฮสต์ (host galaxy) ของสัญญาณวิทยุปริศนา และตัวกลางระหว่างดวงดาวในทางช้างเผือก

อนึ่ง ฟาสต์เริ่มต้นดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2020 ตั้งอยู่กลางแอ่งคาสต์ลึกทรงกลมตามธรรมชาติในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยเชื่อกันว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ตอบสนองเร็วที่สุดในโลก

ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว




กำลังโหลดความคิดเห็น