xs
xsm
sm
md
lg

“เสียวหมี่” ประกาศศักดาเปิดตัวรถไฟฟ้าคันแรกช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด หวังติดอันดับท็อปไฟว์ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภายในงานอีเวนต์เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของเสียวหมี่ เป็นรถซีดาน SU7 ที่ปักกิ่ง เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2023 (ภาพ รอยเตอร์)
หลังจากรอคอยกันมานาน ในที่สุด “เสียวหมี่” บริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแบรนด์โทรศัพท์มือถือชื่อดังของจีนก็ได้ฤกษ์เปิดตัว “เสียวหมี่ เอสยู7” (Xiaomi  SU7) รถซีดานไฟฟ้าคันแรกที่บริษัทผลิตออกมาจำหน่าย

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้บรรดานักวิเคราะห์มองเห็นแนวโน้มการแข่งขันที่จะยิ่งเข้มข้นดุเดือดบนสังเวียนตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ของจีน ซึ่งเนืองแน่นด้วยบริษัทผู้ผลิตมากมายหลายเจ้าทั้งระดับค่ายยักษ์ใหญ่และระดับสตาร์ตอัปน้องใหม่

นายเหลย จวิน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเสียวหมี่ กำลังแถลงในงานเปิดตัวรถอีวี SU7 คันแรกของเสี่ยวหมี่ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2023 (ภาพ รอยเตอร์)
ในงานเทคโนโลยียานยนต์เพื่อเปิดตัวที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันพฤหัสฯ (28 ธ.ค.) นายเหลย จวิน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเสียวหมี่ ประกาศเป้าหมายก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 1 ใน 5 อันดับแรกของโลกให้ได้ด้วยการทำงานอย่างหนักในอีก 15-20 ปีข้างหน้า เพื่อแข่งขันกับค่ายรถปอร์เช่ และเทสลา

เขาระบุว่า เสียวหมี่ เอสยู7 เป็นผลจากการทำงานอย่างหนักและการลงทุนทรัพยากรมากมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ เช่น เครื่องยนต์ไฟฟ้าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเหตุผลที่เสียวหมี่เลือกผลิตรถไฟฟ้าประเภทรถซีดาน แทนที่จะเป็นรถเอสยูวีซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากบนแดนมังกรอย่างบริษัทเทคโนโลยีจีนหลายเจ้าทำกันก็เพราะว่า “การผลิตรถซีดานนั้นยากกว่า ซึ่งสามารถแสดงถึงจิตวิญญาณของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ดีกว่านั่นเอง”


นายเหลย จวิน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเสียวหมี่ กำลังแถลงในงานเปิดตัวรถอีวี SU7 คันแรกของเสี่ยวหมี่ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2023 (ภาพ รอยเตอร์)
เมื่อเดือน พ.ย.2566 เว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนได้เปิดเผยสเปกของรถเอสยู7 ว่า เป็นรถเก๋งเรียบหรู มี 4 ประตู 5 ที่นั่ง ความยาวตัวรถเกือบ 5 เมตร มีให้เลือก 2 เวอร์ชัน คือ แบบมีระบบไลดาร์ (lidar) และไม่มี

นายเหลย ระบุว่า เสียวหมี่ เอสยู 7 มีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติที่ล้ำหน้าและยังติดตั้งระบบปฏิบัติการซึ่งเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน แพด และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ของเสียวหมี่ได้อีกด้วย โดยอีก 7 เดือนข้างหน้าจึงจะออกจำหน่ายในตลาด แต่เขายังไม่เปิดเผยสนนราคา

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของสื่อมวลชนบางรายคาดว่า แบรนด์รถไฟฟ้าของเสียวหมี่อาจให้บีเอไอซีกรุ๊ป (BAIC Group) ซึ่งเป็นบริษัทยานยนต์ของรัฐเป็นผู้ผลิตที่โรงงานในกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีกำลังผลิตปีละ 2 แสนคัน


ภายในงานอีเวนต์เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของเสียวหมี่ เป็นรถซีดาน SU7 ที่ปักกิ่ง เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2023 (ภาพ รอยเตอร์)
นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนคาดว่า ปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ในจีนจะเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านคันในปี 2567 มีอัตราการเติบโตราวร้อยละ 40 จากปีก่อนหน้า โดยนายเหลยนั้นมองเห็นมานานแล้วว่า รถยนต์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง” (internet of things - IoT) ของบริษัทเสียวหมี่ ซึ่งต้องการเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอมาใช้ร่วมด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมตัวนายเหลยเองจึงร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปรถไฟฟ้าของจีน เช่น นีโอ (Nio) และเสี่ยวเผิง มอเตอร์ (Xpeng Motors)

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของรถเอสยู7 ย่อมส่งผลกระทบต่อนีโอ และเสี่ยวเผิง มอเตอร์อย่างแน่นอน นอกจากนั้น ยังต้องรอดูกันต่อไปว่า ธุรกิจรถอัจฉริยะของนายเหลยจะมีเงินสนับสนุนอย่างราบรื่นหรือไม่ ในขณะที่บริษัทจีนหลายรายที่ลงทุนด้านนี้ต้องประสบปัญหาการเงิน หรือบางรายถึงขั้นล้มละลายมาแล้ว โดยในวันเปิดตัวเสียวหมี่เอสยู 7 หุ้นของบริษัทเสียวหมี่ร่วงลงเล็กน้อย


ที่มาข่าว : ไชน่าเดลี, ภาพ รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น