คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้นำเสนอวิธีการใหม่ในการเปลี่ยนสิ่งปนเปื้อนในน้ำเสียให้เป็นสารเคมีที่มีคุณค่าโดยใช้แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการปูทางสำหรับการผลิตสารเคมีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อนึ่ง การศึกษาข้างต้นจัดทำโดยคณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงเซินเจิ้น สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน สถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน รวมถึงสถาบันอื่นๆ และเผยแพร่ลงในวารสารเนเจอร์ ซัสเทนอะบิลิตี (Nature Sustainability) เมื่อไม่นานนี้
คณะนักวิจัยเริ่มจากการแปลงมลพิษจากน้ำเสียให้เป็นสารกึ่งตัวนำกึ่งชีวภาพ (semiconductor biohybrid) ในสภาพแวดล้อมน้ำเสียโดยตรง โดยใช้คาร์บอนอินทรีย์ โลหะหนัก และสารประกอบซัลเฟตที่มีอยู่ในน้ำเสียเป็นวัตถุดิบสร้างสารกึ่งชีวภาพเหล่านี้ และแปลงสู่สารเคมีที่มีคุณค่าโดยใช้แสงอาทิตย์ในขั้นต่อไป
คณะนักวิจัยคัดเลือกวิบริโอ นาตรีเจนส์ (Vibrio natriegens) เชื้อแบคทีเรียทางทะเลที่เติบโตรวดเร็ว ซึ่งทนทานเป็นพิเศษต่อความเข้มข้นของเกลือที่สูง และมีศักยภาพการใช้ประโยชน์จากแหล่งคาร์บอนที่หลากหลาย
ผู้เชี่ยวชาญใช้วิถีการลดซัลเฟตแบบใช้ออกซิเจน (aerobic sulfate reduction) เพื่อสังเคราะห์อนุภาคนาโนทางชีวภาพของสารกึ่งตัวนำในวิบริโอ นาตรีเจนส์ เพื่อประกอบสารกึ่งตัวนำกึ่งชีวภาพจากน้ำเสีย
เกาเสียง นักวิจัยจากสถาบันฯ กล่าวว่าอนุภาคนาโนดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์สารกึ่งชีวภาพและการแปลงอินทรียวัตถุในน้ำเสียได้ โดยการดูดซึมพลังงานส่วนเกินที่เกิดจากแสงอาทิตย์
การศึกษาระบุว่างานนี้สามารถสร้างความคืบหน้าแก่การผลิตทางชีวภาพที่ขับเคลื่อนด้วยแสงอาทิตย์และการแปลงขยะเป็นสิ่งมีค่า รวมถึงปูทางเพื่อการผลิตที่สะอาดยิ่งขึ้นและเศรษฐกิจหมุนเวียน
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว