“คอนนี่ เฉิน”อดีตพนักงานธนาคาร วัย 26 ปี กับ “กอร์ดอน หลิน” สามี ตัดสินใจอำลานครเซี่ยงไฮ้ถิ่นอาศัย และเลือกมาใช้ชีวิตในเชียงใหม่เมืองใหญ่อันดับสองของไทย
ทั้งคู่ก็เหมือนกับหนุ่มสาวชาวจีนอีกหลายคน ที่กำลังโบยบินไปต่างประเทศ หลังจากจีนยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งมีชาวจีนหลายร้อยล้านคนตกอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์อันเข้มงวดที่สุดในโลก เพื่อหนีจากสภาพชีวิต ซึ่งคนหนุ่มสาวเหล่านี้รู้สึกว่าอยู่ไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและมีการแข่งขันสูง
ที่นครเซี่ยงไฮ้เมืองหลวงด้านการเงินของจีน ซึ่งถูกล็อกดาวน์หนักสุดแห่งหนึ่ง เฉินมีอาชีพการงานมั่นคงรายได้ดี แต่ช่วงที่โควิดระบาด ความปรารถนาในอิสรภาพมันแรงกล้าขึ้นและ
“ ถึงแม้ฉันทำงานนี่ไปตลอดชีวิต มันก็จะเป็นอยู่แบบนี้แหละ” เธอกล่าว
“แต่ชีวิตนั้นสั้นนักจนฉันอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง”
ส่วนนายหลินอดีตลูกจ้างบริษัทอีคอมเมิร์ซ วัย 32 ปีเคยวางแผนว่าจะขยันทำงานเก็บเงินและลาออกก่อนวัยเกษียณ แต่สุดท้ายก็ทนไม่ไหวกับค่านิยมของผู้คนในสังคม ที่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ หางานทำดี ๆ และต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
เฉินจึงเริ่มค้นหาโปรแกรมการเรียนภาษาต่างประเทศและเลือกที่ประเทศไทย ทั้งคู่เดินทางมาเชียงใหม่เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา โดยถือวีซ่านักเรียนระยะเวลา 1 ปี
เชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม เนื่องจากมีขั้นตอนการขอวีซ่าค่อนข้างง่าย มีวิถีชีวิตไม่เร่งรีบและค่าครองชีพถูก
ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยเงินออมและตอนนี้ตั้งใจว่าจะอาศัยในต่างประเทศระยะยาว เพราะรู้สึกว่ามีโอกาสให้มากมายและมีความหวัง
ทั้งนี้ ในแอปวีแชต (WeChat) มีการค้นหาคำว่า “ การโยกย้ายถิ่นฐาน” (emigration) มากถึง 510 ล้านครั้งภายในหนึ่งวันเมื่อเดือนต.ค. และ “ การเข้าเมืองไทย” (immigrating Thailand) มากกว่า 3 แสนครั้งภายในหนึ่งวันเมื่อปลายเดือนม.ค. จากข้อมูลของสื่อภาคภาษาจีน
มีการมองกันว่าประเทศไทยเข้าง่ายกว่ายุโรปหรืออเมริกาเหนือ เนื่องจากไทยเสนอวีซ่าหลายประเภท รวมถึงคอร์สการเรียนภาษาหนึ่งปี ซึ่งมีราคาประมาณ 700 – 1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 24,500-63,000 บาท )
นาย เซียง เปียว นักมานุษยวิทยาประจำสถาบันมานุษยวิทยาสังคมมักซ์ พลังค์ (Max Planck Institute for Social Anthropology) ของเยอรมนีระบุว่า ความต้องการเดินทางออกนอกประเทศจีนมีเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และประเทศไทยได้รับการยอมรับจากชาวจีนมากมายว่า เป็นบันไดอีกก้าวหนึ่งที่เหมาะอย่างยิ่งในการทดลองใช้ชีวิตในต่างประเทศ นอกจากนั้นยังเกิดกระแสใหม่ของคนจีนที่ต้องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบถอนรากถอนโคนตนเองอย่างสิ้นเชิง เพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการอย่างมีอิสระ แตกต่างจากคนจีนรุ่นก่อน ที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศเพื่อแสวงโชคแต่ยังคงสายสัมพันธ์กับจีนเพื่อทำธุรกิจกันอยู่
นายอิ้น เหวินฮุย ชาวจีน วัย 31 ปี ซึ่งติดอยู่ในเชียงใหม่ กลับจีนไม่ได้ช่วงโควิดระบาดเปิดเผยว่า ถึงเวลาที่เขาต้องไปจากเชียงใหม่แล้ว แน่นอนว่าเขารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่ออยู่ที่นี่ มีเวลาครุ่นคิดถึงรูปแบบชีวิตที่ต้องการ แต่ช่วงฮันนีมูนจบลงแล้ว เขาเริ่มอึดอัดกับจังหวะชีวิตที่ช้า และตอนนี้พร้อมก้าวไปอีกขั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งดีกว่าจีนหรือเชียงใหม่ในเรื่องวัฒนธรรม การทำงาน และเงินเดือนคือจุดหมายปลายทางที่เขาต้องการ
จาก “Freedom and dignity: Millennial Chinese leave China for Thailand” ในเอเอฟพี