คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนค้นพบว่า “ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้” ซึ่งได้รับยกย่องเป็นตัวอย่างชั้นยอดของการเลียนแบบดอกไม้ ได้ใช้ขารูปทรงกลีบดอกในการบินร่อน
ผลการศึกษาจากสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าขาที่มีปีกหรือกลีบต้นขาเหล่านี้เลียนแบบดอกไม้เพื่อหลอกเหยื่อที่เข้ามาผสมเกสร
คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการวิจัยเชิงพฤติกรรมและพบตั๊กแตนชนิดนี้เป็นนักบินร่อนที่ดีเยี่ยม โดยเฉินจ้านฉี่ หัวหน้าทีมวิจัย เผยว่ากลีบต้นขารูปทรงกลีบดอกไม้เป็นเหมือนปีก ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญสำหรับการบินร่อน
เฉินเสริมว่าตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้ที่ตกจากความสูง 10 เมตร สามารถบินร่อนเป็นระยะทางเฉลี่ย 6.1 เมตร โดยระยะทางไกลที่สุดที่บันทึกได้อยู่ที่ 14.7 เมตร
กลีบต้นขาเหล่านี้เป็นโครงสร้างกระดูกภายนอกอันแข็งแกร่งที่ช่วยให้สามารถบินร่อนได้ ทำให้ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้เป็นสัตว์ขาปล้องที่เชี่ยวชาญการบินร่อนมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในปัจจุบัน
บททบทวนวรรณกรรมของการค้นพบนี้ ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์วารสารไซเอนซ์ (Science) ระบุว่าขาที่มีปีกและการพรางตัวเป็นดอกไม้ทำให้ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้เป็นทั้งนักบินร่อนตัวฉกาจและนักล่าตัวร้าย
อนึ่ง ผลการศึกษานี้ถูกเผยแพร่ผ่านวารสารเคอร์เรนต์ ไบโอโลจี (Current Biology) เมื่อวันพุธ (29 พ.ย.) ที่ผ่านมา
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว