จีนกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ ยอดผู้ป่วยที่เป็นเด็กพุ่งสูงขึ้น โดยมีรายงานว่าเด็กๆ จำนวนมากเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจึงมีการจัดโซนทำการบ้านไว้ให้
ภาพของเด็กๆ ชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษานั่งทำการบ้านในโซนที่โรงพยาบาลจัดไว้ ขณะที่มือยังคงใส่สายน้ำเกลือ ถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียล และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในเวลาต่อมา
โดยฝั่งผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งเชื่อว่าการให้น้ำเกลือจะช่วยทำให้เด็กๆ ฟื้นตัวเร็วขึ้น แสดงความเห็นว่า “ฉันไม่ได้ตั้งใจให้ลูกมาทำการบ้านที่นี่ แต่พอเห็นว่าบรรยากาศการเรียนในโรงพยาบาลมันดีมากๆ ฉันจึงสนับสนุนให้ลูกทำการบ้านขณะรักษาตัวด้วยเช่นกัน”
ขณะที่พ่อของเด็กคนหนึ่งกล่าวว่า “ลูกของผมต้องทำการบ้านด้วยวิธีนี้ เพราะถ้าทำไม่เสร็จ เขาจะมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมายเมื่อกลับไปเรียน...นี่เป็นปัญหาทางสังคม เราเป็นเพียงครอบครัวธรรมดาๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎที่ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณก็จะต้องทำการบ้านให้เสร็จ”
อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตต่างไม่เห็นด้วย พร้อมแสดงความเห็น เช่น “เด็กเหล่านี้ป่วยทางกาย แต่ผู้ใหญ่เหล่านี้อาจป่วยทางจิต” “พ่อแม่ดูโล่งใจและพอใจที่ได้เห็นลูกทำการบ้าน ดูเหมือนว่าพวกเขาจะกังวลเรื่องนี้มากกว่าอาการเจ็บป่วยของลูกเสียอีก” "การเปิดโซนทำการบ้านในโรงพยาบาลถือเป็นความคิดที่ไร้มนุษยธรรม" และ “ฉันรู้สึกปวดใจแทนนักเรียนเหล่านี้ที่ต้องเรียนหนังสือทั้งที่ไม่สบาย ผลการเรียนของนักเรียนสำคัญกว่าสุขภาพของพวกเขาอีกเหรอ?”
ด้านบทบรรณาธิการของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือซีซีทีวี (CCTV) มีการแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า แม้การจัดโซนทำการบ้านให้แก่นักเรียนจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ไม่ควรสนับสนุน
“เด็กๆ ไม่ควรตกเป็นเหยื่อของการทำการบ้านที่โรงพยาบาลโดยไร้เหตุผลเช่นนี้ ตารางเรียนของเด็กๆ ไม่ควรอัดแน่นจนเกินไป ควรปล่อยให้พวกเขาได้พักเมื่อเจ็บป่วย ร้องไห้เมื่อรู้สึกเศร้าเสียใจ หรือไม่ต้องทำอะไรสักพัก มันเป็นสิ่งสำคัญไม่ต่างจากการสอบติดมหาวิทยาลัย”
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประเด็นดังกล่าว ในวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานการศึกษาของเทศบาลกรุงปักกิ่งระบุว่า โรงเรียนควรชี้แจงให้ชัดเจนว่านักเรียนไม่จำเป็นต้องทำการบ้านขณะที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วย
ที่มา: Intravenous education: China hospitals set up ‘classrooms’ so sick children can study during nationwide outbreak of respiratory diseases (SCMP)