มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน รายงานการขุดพบวัตถุดินเผา เตาเผา และเครื่องมือทำเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก ซึ่งมีอายุราว 2,000 ปี จากซากเมืองโบราณ โดยถือเป็นหลักฐานเพิ่มเติมสำหรับการศึกษาอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาในยุคราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 220)
รายงานระบุว่า การค้นพบนี้เกิดขึ้นระหว่างการขุดสำรวจซากเมืองไป่เหรินในเมืองสิงไถ ครั้งที่ 4 ซึ่งเริ่มต้นช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีการขุดพบวัตถุโบราณมากกว่า 200 รายการ เช่น ผนังดินอัด หลุมขี้เถ้า ซากบ้าน บ่อ และเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา จากพื้นที่ราว 400 ตารางเมตร
อนึ่ง ซากเมืองไป่เหรินมีสภาพค่อนข้างดี ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร โดยซากกำแพงเมืองที่ยังคงปรากฏอยู่นั้นมีเส้นรอบวงราว 8,000 เมตร ซึ่งบางส่วนสูง 6-7 เมตร
การขุดสำรวจซากเมืองไป่เหริน ครั้งที่ 4 ใช้ระยะเวลาเกือบ 4 เดือน ดำเนินการโดยทีมเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน สถาบันวัตถุวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งเหอเป่ย และศูนย์คุ้มครองและวิจัยวัตถุวัฒนธรรมแห่งสิงไถ ส่วนการขุดสำรวจก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2016 ปี 2018 และปี 2022
หลี่เหมยเถียน ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ซึ่งนำการขุดสำรวจครั้งนี้ เผยว่า วัตถุที่ค้นพบรอบนี้ส่วนใหญ่มาจากยุคราชวงศ์ฮั่น พิสูจน์ให้เห็นว่าเมืองไป่เหรินในช่วงเวลานั้นมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นและมีความเจริญรุ่งเรือง
นอกจากนั้น คณะนักโบราณคดีค้นพบวัตถุวัฒนธรรมจำนวนหนึ่งจากยุคจ้านกั๋ว หรือยุครณรัฐ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ยุคราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) และยุคหลังจากนั้น โดยหลี่ ชี้ว่าอาจช่วยสร้างความเข้าใจพัฒนาการและวิวัฒนาการของเมืองไป่เหรินในเชิงลึกและละเอียดยิ่งขึ้น
หลี่กล่าวว่าเครื่องใช้ในครัวทำจากดินเผาและเตาเผาที่ขุดพบรอบนี้สะท้อนว่าพื้นที่นี้อาจเคยเป็นย่านผลิตเครื่องปั้นดินเผา โดยวัตถุจากหลายยุคสมัยในซากเมืองแห่งนี้ ทำให้รู้ว่าเมืองไป่เหรินดำรงอยู่เป็นเวลานาน ทั้งยุคจ้านกั๋ว และยุคราชวงศ์ฮั่นอันเป็นช่วงเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด
ทั้งนี้ หลี่เสริมว่าการขุดสำรวจแต่ละครั้งมีนัยสำคัญยิ่งต่อการวิจัยและหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบนิเวศเมืองจากช่วงก่อนยุคราชวงศ์ฉิน จนถึงยุคราชวงศ์ฮั่นในภาคเหนือของจีน
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว