เมื่อวันศุกร์ (17 พ.ย.) สถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน เปิดตัวแบบจำลองซีเอเอส-อีเอสเอ็ม2.0 (CAS-ESM2.0) ซึ่งเป็นแบบจำลองระบบโลกที่พัฒนาโดยจีน ได้รับการออกแบบมาเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงช่วยป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ พร้อมประกาศเปิดตัวรหัสต้นทาง (source code) ในการประชุมวิทยาศาสตร์การสร้างแบบจำลองระบบโลกเชิงตัวเลข ครั้งที่ 1 ณ กรุงปักกิ่ง
รายงานจากไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี (Science and Technology Daily) ระบุว่าในฐานะแบบจำลองระบบโลกรุ่นแรกที่จีนสร้างขึ้น ซีเอเอส-อีเอสเอ็ม2.0 เป็นองค์ประกอบซอฟต์แวร์หลักของสิ่งอำนวยความสะดวกจำลองระบบโลกเชิงตัวเลข (Earth System Numerical Simulator Facility) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติที่สำคัญของจีน
แบบจำลองดังกล่าวมีรหัสโปรแกรมจำลองทั้งหมดราว 2.7 ล้านบรรทัด ครอบคลุมองค์ประกอบของระบบภูมิอากาศและระบบสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังมีแบบจำลองระบบย่อยอีก 8 แบบ ซึ่งรวมถึงการไหลเวียนของชั้นบรรยากาศ การไหลเวียนของมหาสมุทร และน้ำแข็งในทะเล
ซีเอเอส-อีเอสเอ็ม 2.0 สามารถนำไปใช้เพื่อการสำรวจและทำความเข้าใจกฎแห่งวิวัฒนาการภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และยังสามารถใช้เพื่อศึกษากลไกปฏิกิริยาโต้ตอบของชั้นเปลือกโลก คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของระบบโลกในอนาคต ส่งมอบข้อมูลพื้นฐานเพื่อการตัดสินใจและการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในอนาคต
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว