xs
xsm
sm
md
lg

ออสซีโวยกำลังพลบาดเจ็บ เรือพิฆาตหนิงปัวปล่อยคลื่นโซนาร์ “ไม่เป็นมืออาชีพ” แต่ถูกจีนย้อนเจ็บ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือหังโจว (Hull 136)  และเริอหนิงปัว (Hull 139) ซึ่งเป็นเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีชั้นซอฟเรเมนนี (Sovremenny) ร่วมการฝึกซ้อมของกองบัญชาการกองทัพเรือภาคตะวันออกของจีนเมื่อต้นปี 2564 - ภาพ : โกลบอลไทมส์
ผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรตั้งข้อสงสัยถ้อยแถลงของกระทรวงกลาโหมแดนจิงโจ้ ที่ออกมาโวย กรณีเรือรบสองฝ่ายเกิดการเผชิญหน้ากัน

นายริชาร์ด มาร์เลส รมว.กลาโหมของออสเตรเลียแถลงเมื่อวันเสาร์ (18 พ.ย.) ว่า กำลังพลของเรือหลวงทูวูมบา (HMAS Toowoomba) ถูกเรือหนิงปัว (Hull 139) ซึ่งเป็นเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีชั้นซอฟเรเมนนี (Sovremenny) ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ใช้เครื่องโซนาร์บีบบังคับให้โผล่ขึ้นมาจากน้ำ ขณะกำลังดำลงไปแก้อวนประมงที่พันใบพัดเรือ โดยกำลังพลน่าจะได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยหลายนายจากแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะเรือฟริเกตชั้นแอนแซกของราชนาวีออสเตรเลียแล่นอยู่ในเขตน่านน้ำสากลภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลของญี่ปุ่นเมื่อวันอังคาร (14 พ.ย.) ระหว่างปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติในภูมิภาคแห่งนี้
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารหลายคนของจีนชี้ว่า คำแถลงมีความคลุมเครือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถานที่เกิดเหตุ อีกทั้งเป็นการแถลงข้างเดียว โดยไม่พูดถึงการแจ้งข้อมูลของฝ่ายเรือหนิงปัวในระหว่างที่เรือทั้งสองมีการสื่อสารกันตามที่ออสเตรเลียเองก็ยอมรับ จึงอาจเป็นไปได้ว่า เรือหนิงปัวได้มีคำเตือนด้วยวาจา แต่อีกฝ่ายเพิกเฉย เรือหนิงปัวจึงต้องดำเนินการขั้นต่อไปนั่นคือการเตือนด้วยเครื่องโซนาร์


นายจาง จวินเซ่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพเรือชี้ว่า หากเหตุเกิดในน่านน้ำทางตะวันตกของญี่ปุ่น เขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ญี่ปุ่นประกาศก็อาจอยู่บริเวณน่านน้ำที่จีนบริหารจัดการด้วย เพราะจีนกับญี่ปุ่นไม่ได้มีการปักปันเขต
 
ผู้เชี่ยวชาญอีกคนมองว่า ออสเตรเลียอาจจงใจเลือกที่จะไม่เปิดเผยพิกัดที่แน่นอน เพราะรู้ตัวว่าได้ทำอะไรบางอย่างผิด

 
“เหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้กับหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ของจีนหรือเกาะไต้หวันรึเปล่า หรือเกิดใกล้กับการฝึกซ้อมของกองทัพจีน หากเป็นเช่นนั้นก็เห็นได้ชัดว่าเรือรบของออสเตรเลียได้ยั่วยุจีนตั้งแต่แรก” เขาระบุ


นายกรัฐมนตรีแอนโทนี แอลบานีส ของออสเตรเลียพบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2566 - ภาพ : ซินหัว
คำแถลงจึงไม่ต่างอะไรกับการป่าวร้องทฤษฎีที่ว่าจีนคือภัยคุกคาม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ หลายชาติ เช่น ออสเตรเลีย และแคนาดาได้กล่าวหาเรือรบและเครื่องบินรบของจีนหลายครั้งหลายหนว่า มีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นมืออาชีพกับเครื่องบินจากภายนอกที่เข้ามาลาดตระเวนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกใกล้หน้าประตูบ้านของจีนในนามของการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตของสหประชาชาติ

นอกจากนั้น เรือรบและเครื่องบินรบที่มีการลาดตระเวนแจ้งเตือนที่หน้าประตูบ้านของตนเองถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ควรถูกทุ่มโฆษณาเกินจริงว่า “เป็นภัยคุกคามจากจีน” แต่ชาติเหล่านี้ต่างหากที่ควรเลิกส่งเครื่องบินเรือรบข้ามน้ำข้ามทะเลหลายพันกิโลเมตรมาปลุกปั่นปัญหาและเบ่งกล้ามที่หน้าประตูบ้านของจีนได้แล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรระบุ


ด้านนายกรัฐมนตรี แอนโทนี แอลบานีส ของออสเตรเลียให้สัมภาษณ์สกายนิวส์เมื่อวันจันทร์ (20 พ.ย.) ว่า มีกำลังพลบาดเจ็บหนึ่งนายจากการกระทำของจีน โดยกล่าวหาเรือพิฆาตของจีนว่ามีพฤติกรรมที่ “อันตราย ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นมืออาชีพ” อย่างไรก็ตาม นายแอลบานีสไม่ยอมยืนยันชัดเจนว่า เขาได้หยิบยกเหตุการณ์ดังกล่าวมาหารือซึ่งๆ หน้ากับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีนในการประชุมสุดยอดเอเปกที่นครซานฟรานซิสโกเมื่อสัปดาห์ก่อนหรือไม่ บอกเพียงว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้ร้องเรียนผ่าน “ทุกเวทีที่มีอยู่”


ทั้งนี้ นายแอลบานีสเพิ่งไปเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่มึนตึงกันเมื่อต้นเดือน พ.ย. ส่งผลให้จีนยกเลิกมาตรการจำกัดทางการค้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับออสเตรเลีย และรัฐบาลชาติทั้งสองกลับมาคบหากันอีกครั้ง


ที่มา : โกลบอลไทมส์ / เดอะการ์เดียน



กำลังโหลดความคิดเห็น