xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์พิเศษ “คณะผู้แทนไทย” ร่วมหารือผลสัมฤทธิ์ของการประชุมฟอรัมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “ไทยจะร่วมพัฒนาความร่วมมือสีเขียวกับจีนอย่างไร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนโดยฝ่ายต่างประเทศของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน จัดการประชุมไดอะล็อกพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคการเมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมหารือผลสัมฤทธิ์ของการประชุมฟอรัมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 พ.ย.2023

ผู้สื่อข่าว MGR ONLINE ได้ติดตามคณะผู้แทนไทยสามท่านที่เข้าร่วมการประชุมไดอะล็อกที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสีเขียว” หรือการพัฒนาความร่วมมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในทิศทางใหม่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประกาศระหว่าง การประชุมฟอรัมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Forum ชื่อย่อ BRF) จัดที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา

ในรายงานพิเศษจากการประชุมไดอะล็อกนี้ ขอนำเสนอสาระจากวงสัมมนา และสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากผู้แทนไทยในคณะเพื่อแสดงถึงมุมมองและความคาดหวังต่อความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative ชื่อย่อBRI) ของกลุ่มพรรคการเมืองไทยที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันความร่วมมือไทย-จีนในกรอบของ BRI

1) ในการสัมมนาแลกเปลี่ยนหัวข้อ “พรรคการเมือง+การพัฒนาเชิงนิเวศวิทยา” นายศุภชัย ไจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) จากพรรคภูมิใจไทย ได้กล่าวในโต๊ะสัมมนา ดังนี้

ผู้แทนที่เข้าร่วมการสัมมนาแลกเปลี่ยน “พรรคการเมือง+การพัฒนาเชิงนิเวศวิทยา” (ภาพซ้าย) นายศุภชัย ไจสมุทร ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
“ศุภชัย ไจสมุทร” ได้กล่าวถึงบทบาทของไทยในความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

การที่ไทยเข้าร่วม BRI จะได้รับประโยชน์คือจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย สนับสนุนการฟื้นภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะมีบทบาทด้านการเงินและโลจิสติกส์ ไทยตระหนักถึงเจตนารมณ์ของจีน และจะเข้าร่วมใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความร่วมมือด้านนโยบายรัฐบาลระดับสูง 2) ความร่วมมือด้านการเมืองมหภาค ที่เกี่ยวพันกับการค้าและการลงทุน 3) ขยายผลความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างไทย-จีน โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ได้เข้าลงทุน อย่างเช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) และ 4) ส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างบุคคล รวมถึงภาคการท่องเที่ยว และการศึกษา

เป็นที่ทราบกันว่า BRI และอีอีซีนั้นมีพื้นที่ที่จะบูรณาการเข้ากันได้อย่างกลมกลืน อีอีซีเป็นแพลตฟอร์มการปฏิรูปของประเทศไทย และพื้นฐานสำหรับการพัฒนาไปสู่ “ประเทศไทย 4.0”

ความเกี่ยวพันระหว่างอีอีซี กับ BRI อาจเป็นไปได้ทั้งในพื้นที่ของอุตสาหกรรมและระดับนโยบาย เมื่อเปรียบเทียบนโยบายแล้วเห็นได้ชัดว่า “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0” มีความคล้ายคลึงกับ “นโยบายการผลิตในจีน 2025” (Made in China 2025) ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งได้บรรจุไว้ในการแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยฉบับที่ 20

“ผมขอชื่นชม “นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสีเขียว” ที่สี จิ้นผิงได้ประกาศในประชุมฟอรัมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ปักกิ่งเมื่อเดือนตุลาคม ขณะนี้ประชาชนทั่วโลกกำลังหันมาโฟกัสการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “การพัฒนาสีเขียว” ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จีนไม่เพียงดำเนินนโยบายการพัฒนาสีเขียวในประเทศเท่านั้นยังได้นำโมเดลการพัฒนานี้เป็นหลักแนะแนวในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

“ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสีเขียว” จะนำพาผลประโยชน์หลายมิติมาให้แก่จีนและประเทศต่างๆ การผลักดันโครงการสีเขียว จะยกระดับยุทธศาสตร์ ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางให้เปิดกว้างสู่ระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงดึงดูดของโครงการในสายตาของนักลงทุนและเร่งการลงทุนภายใต้ความร่วมมือ BRI

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก BRI และกำลังผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟ BRI 

"ในทัศนะของผม ประเทศไทยควรที่จะเตรียมการรับอานิสงส์อย่างเต็มสูบในการเชื่อมการคมนาคมผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนสายนี้ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งทางรถไฟจากไทยไปจีนในอนาคตอันใกล้ และเป็นช่องทางเข้าสู่ตลาดจีน ที่จะเชื่อมไปถึงตะวันออกกลางและยุโรปในเฟสต่อไป ทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้จะถูกเชื่อมต่อกับทางรถไฟความเร็วสูงและเครือข่ายโลจิสติกส์ภายใต้โครงการอีอีซี ซึ่งมีโครงข่ายเชื่อมโยงทั้งภายในและระหว่างประเทศ จะช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะสร้างโอกาสให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การค้า การลงทุน เชื่อมกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ASEAN และจีนเข้าด้วยกัน"


การประชุมไดอะล็อกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และพรรคการเมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมหารือผลสัมฤทธิ์ของการประชุมฟอรัมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
2) หนึ่งในผู้แทนอีกท่านที่เข้าร่วมวงสัมมนาหัวข้อ “พรรคการเมือง+การพัฒนาเชิงนิเวศวิทยา” คือ นายคณิศ แสงสุพรรณ ทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ดังนี้

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศในการประชุมฟอรัมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่จีนได้ดำเนิน BRI มาครบรอบ 10 ปีในปีนี้ สี จิ้นผิงได้ประกาศทิศทางใหม่ของความร่วมมือ BRI จากก่อนหน้านี้ที่มุ่งแต่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ทางรถไฟ เปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาส่วนรวมที่มีทั้งหมด 8 ข้อด้วยกัน ข้อหนึ่งในนั้นคือ “การพัฒนาสีเขียว” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการประชุมไดอะล็อก ที่พวกเราได้เข้าร่วมกันนี้

ความหมายของ “ความร่วมมือ การพัฒนาสีเขียว”  ที่พูดคุยกันในการประชุมครั้งนี้มีประเด็นนัยอยู่สองประการคือ อันแรกคือการทำโครงการต่างๆ ภายใต้ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เป็นเรื่องของการพัฒนาสีเขียวจริงๆ เช่น ทำโครงการพัฒนาพลังงานทางเลือก ส่วนอีกแบบหนึ่งจะแฝงอยู่ในโครงการที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานจะต้องคำนึงถึง “สีเขียว” เช่น การเลือกวัสดุ ใช้ของรีไซเคิลมากขึ้น และ “สีเขียว”  อีกด้านหนึ่งที่เราได้ไปชมและพูดคุยในห้องสัมมนาที่มหาวิทยาลัยยูนนาน เช่น การอนุรักษ์กล้วยไม้สูญพันธุ์ การปลูกข้าวในฟาร์มเกษตรที่ยั่งยืน คือต้นข้าวที่มีรากแก้ว ที่เรียกว่า “Perennial Rice” (ข้าวแบบข้ามปี) เพราะพืชที่มีรากแก้วเวลาปลูกจะช่วยลดคาร์บอนได้

สรุปก็คือ แบบที่หนึ่งคือลงทุนในโครงการที่จะช่วยลดคาร์บอน แบบที่สองคือทำโครงการที่ทำคิดถึงการพัฒนาสีเขียวมากขึ้น และแบบที่สามคือคิดโครงการใหม่ๆ เรื่องการเกษตร “สีเขียว”

BRI กำลังผลักดันในเรื่องที่กล่าวมานี้ ซึ่งกลายเป็นว่าจีนได้ปฏิบัติตามมาตรการระหว่างประเทศอย่างค่อนข้างหนักแน่น ทั้งเรื่องเกี่ยวกับการลดคาร์บอน การลดการแพร่กระจายความร้อน โดยใช้ความร่วมมือ BRI กระตุ้นให้คนอื่นมาร่วมทำ...เป็นเรื่องที่เรามาสัมมนากันครั้งนี้

ทีนี้หันมามองและถามตัวเรา เรื่องสำคัญที่จะต้องคุยกันคือ โมเดลการพัฒนาประเทศไทย เราเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ไม่เคยคิดว่าอุตสาหกรรมจะเอาอินพุดมาจากไหน เช่น ต้องใช้แร่ธาตุ ป่าไม้ แล้วก็ปล่อยควันๆ ดังนั้น “แนวคิดสีเขียว” ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจปกติทั่วไปยังไม่สามารถทำให้เป็นสีเขียวได้

วิธีทำของแนวคิดสีเขียวคือ การเอาอินพุดป่าไม้กับการปล่อยของเสียรวมเป็นโมเดลเศรษฐกิจเดียวกัน คือ การผลิตต้องใช้ทรัพยากรน้อยแล้วสร้างทรัพยากรทดแทน ในกลไกการผลิตอย่าปล่อยของเสียเยอะ เมื่อมีของเสียต้องเอากลับไปเป็นรีไซเคิลให้ได้ แต่ในตอนนี้แม้จะทำได้ตามแนวคิดสีเขียวที่ว่ามานี้ยังไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่าอุณหภูมิของโลกจะลดลงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าจะไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 เซลเซียส


ดังนั้น สำหรับประเทศไทยต้องใช้มาตรการที่แรงกว่าข้อตกลงที่เราสัญญาไว้ เช่น ปีไหนเราจะเป็นบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ปีไหนเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) เราอาจต้องเร่งทำให้เร็วกว่านี้ คือ ต้องเปลี่ยนการพัฒนาใหม่หมด รวมทั้งทำเรื่องเขียว การปลูกป่า ขยายพื้นที่ต้นไม้ ใช้กระบวนการผลิตที่จะไม่ให้มีการปล่อยคาร์บอนมากกว่านี้ให้มากขึ้น การดูแลของเสียไม่ให้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย สิ่งที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้น้ำมันเกือบร้อยละ 60 ดังนั้นนโยบายการใช้ยานพาหนะอีวี (พลังงานไฟฟ้า) ต้องขยายมากกว่ารถยนต์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทั้งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่จีนทำอยู่ กระบะ ลดการใช้พลังงาน พลังงานที่ใช้ต้องมาจากแหล่งพลังงานทางเลือก อย่างเช่น พลังงานโซลาร์เซลล์ ถ้าทำแบบนี้ได้ควบคู่ไปกับการทำรีไซเคิลดีๆ การเริ่มต้นที่รถยนต์ถูกต้องแล้ว ปลูกป่าด้วย เพิ่มยานพาหนะอีวี ทำรีไซเคิล

สุดท้ายมาถึงเขตพัฒนาพิเศษ ตอนที่ทำอีอีซี เราได้ทำนโยบายทิ้งไว้บ้าง 5 ปีแรกที่วางแผนมีเรื่องการทำสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ตอนนั้นสัญญาและทำจริงในส่วนที่ว่าอุตสาหกรรมที่ทำต้องไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมออโตเมชัน อุตสาหกรรมอีวี อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ต่อมาวางแผนระยะสอง เราทำแผนพัฒนาสีเขียวขึ้นมา กำหนดนโยบายว่าพลังงานที่ใช้ในเขตอีอีซี ร้อยละ 30 ต้องเป็นพลังงานสะอาด คือจะเป็นพลังงานโซลาร์ร้อยละ 30 ที่เป็นมาตรการสากลและบรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

แต่พอเริ่มทำก็ไปขัดแย้งกับหน่วยราชการที่ทำอยู่ เช่น หน่วยราชการทำโรงงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิลอยู่ ใช้น้ำมันใช้แก๊สไปปั่นไฟฟ้า เราบอกว่าอย่าไปเน้นเลย หันมาทำไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ชาวบ้านก็ทำร่วมได้ หรือเรามาทำโซลาร์ฟาร์มเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้อุตสาหกรรมสำหรับใช้กับรถยนต์ก็ยังดีกว่า แต่ติดเรื่องระบบกฎระเบียบอยู่พอสมควร กระทรวงพลังงาน และรัฐบาลต้องเอาจริง เฉพาะเขตพัฒนาอีอีซีทำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถอยู่เหนือนโยบายใหญ่ระดับประเทศได้ เช่น เราไม่สามารถทำนโยบายอีวีได้เอง ไม่สามารถทำนโยบายโซลาร์ฟาร์ม ต้องให้ประเทศ หรือกระทรวงทำ แต่อีอีซีอยากทำ ยกตัวอย่าง บริษัทจากอเมริกาและบริษัทจากยุโรปจะดีใจมากถ้าเข้ามาลงทุนแล้วรู้ว่าพลังงานที่ใช้เป็นพลังงานสะอาด เขาอยากมามากและพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน

พอ BRI มาเน้นการพัฒนาสีเขียว ไม่ช้ากลุ่มบริษัทจีนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศจะขออย่างเดียวกัน เพราะรัฐบาลบังคับให้ใช้พลังงานสีเขียว มีการตรวจสอบการใช้พลังงาน ดูแลเรื่องต่างๆ

ในอนาคตเรื่องการพัฒนาสีเขียวทั้งในการผลิตจะซึมเข้าไปในใจคน จะได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ต้องมีการปลูกฝังให้ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มีจิตสำนึกการเปลี่ยนแปลง เพื่อตัวเราเองและส่วนรวมด้วย อย่างเช่น กรณี PM2.5 ที่กรุงเทพฯ ตามที่ผมเข้าใจฝุ่นมลพิษเกิดจากการใช้เครื่องยนต์และรถยนต์มากอย่างใกล้เคียงกันราวร้อยละ 60 ทั้งจากเครื่องยนต์ในโรงงาน เครื่องยนต์รถยนต์

"ถ้าเราสามารถทำเรื่องอีวีสำเร็จในกรุงเทพฯ โดยครึ่งหนึ่งของยานพาหนะในกรุงเทพฯ ทั้งมอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถบรรทุก เป็นอีวี ใช้ไฟจากพลังงานสะอาด ผมเชื่อว่า PM2.5 ในกรุงเทพฯ จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป อย่างที่เราเห็นที่เมืองจีน รัฐบาลจีนสนับสนุนให้ใช้อีวีทั้งมอเตอร์ไซค์ตามเมืองใหญ่ จะเห็นได้ว่าอากาศในเมืองใหญ่ อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองอื่นๆ อากาศดีมาก อย่างคุนหมิงที่เรามาประชุม อากาศดีมาก ไม่มี PM2.5 ไม่มีใครนึกถึงว่าวันหนึ่งจีนไม่มีมอเตอร์ไซค์ที่เป็นรถเครื่อง บนถนนเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหมดแล้ว เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะลด PM2.5 ได้จริงต้องเปลี่ยนรถเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ให้เป็นอีวี จะอุดหนุนความช่วยเหลือหรือสนับสนุนอย่างไรก็ทำได้เลย จะส่งผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาต้องปรับตัวเรา"

กรณีการทำเขตพัฒนาพิเศษ อย่างเช่น การทำแลนด์บริดจ์ จากชุมพรถึงระนอง จะทำเป็นสีเขียวได้อย่างไร อย่างเช่น ของที่ใช้ต้องเป็นวัสดุรีไซเคิล ดูแลต้นไม้ การทำโครงการใหญ่ๆ ให้เป็นเขียวมากขึ้น

 (ภาพขวา) นายคณิศ แสงสุพรรณ ทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคพรรคพลังประชารัฐ
3) ผู้แทนอีกท่านที่เข้าร่วมในรอบสัมมนาของการประชุมไดอะล็อก คือ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ไทย-จีน สำนักงานเลขาธิการพรรคก้าวไกล

ผมได้เข้าร่วมงาน BRI ที่คุนหมิง ได้เนื้อหาสาระมากมาย ธีมของงานประชุมเกี่ยบกับพลังงานสีเขียว โครงสร้างพื้นฐานเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น รถไฟความเร็วสูง ที่จีนมีแผนเชื่อมต่อกับหลายประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อเชื่อมการค้า การท่องเที่ยว ตลอดจนวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดและอำนวยความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ผมในฐานะผู้มาร่วมงานอยากเห็นความร่วมมือไทยและจีนภายใต้ BRI ในหลายมิติ ทั้งการศึกษา การสร้างงาน พลังงานสะอาด ที่ผ่านมาเราจะเห็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รวดเร็วและต่อเนื่อง แต่เราเองต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์เอง รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งประเทศไทยได้กล่าวว่าหลังจากนี้เราจะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาด โซลาร์เซลล์ พลังจากกังหันลม ลดการใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้เกิดมลพิษ และมุมต่างๆ ที่อยากเห็น เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสีเขียว ไทยอยากมีส่วนร่วมในด้านนี้

"สิ่งที่อยากเห็นคือ ผลประโยชน์ของคนไทย เราเป็นผู้แทนจากไทย อยากเห็นคนไทยได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน การส่งเสริมการศึกษา เราได้แลกเปลี่ยนกับผู้แทนจีนให้มีการส่งเสริมแลกเปลี่ยนด้านการศึกษามากขึ้น เราจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ได้รับทุนการศึกษามาเรียนและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ละประเทศย่อมมีประวัติศาสตร์มีข้อผิดพลาดเราอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ข้อผิดพลาดซึ่งกันและกัน นำมาปรับปรุงประเทศตัวเองให้ดีที่สุด"

"ในการประชุมครั้งนี้ สิ่งที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตความร่วมมือระหว่างไทยและจีน อยากเห็นการแก้ไขปัญหาเรื่องแก๊งภัยคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมระหว่างประเทศ"

"ถัดมา ผมสนใจภาคยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก กลุ่มบริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ผมเองอยากเห็นการสร้างงานให้คนไทย อยากเห็นไทยเป็นฮับผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก และส่งออกไปทั่วโลก"


กำลังโหลดความคิดเห็น