xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : อินไซด์อุตสาหกรรมนักไลฟ์สดจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไลฟ์สดขายสินค้า อุปกรณ์หลังฉากกับมือถือหลายเครื่องก็เพียงพอกับการขายสินค้า (ภาพจากโซเชียลจีน เวยปั๋ว)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล


ปัจจุบันโลกออนไลน์ในทุกประเทศพัฒนารุดหน้าไปมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ไลฟ์สไตล์การจับจ่ายของคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การค้าออนไลน์เริ่มเข้ามาแทนที่ร้านค้าออฟไลน์ และขณะนี้การไลฟ์สดขายของกำลังเฟื่องฟู เพราะการนำเสนอขายสินค้าแบบเรียลไทม์ มีลูกค้าเข้าดูพร้อมกันได้จำนวนมาก เป็นที่นิยมของนักบริโภคบางกลุ่มเพราะสามารถพูดคุยถามรายละเอียดสินค้ากับพ่อค้าแม่ค้าที่ไลฟ์สดขายสินค้าได้เลย การลงออเดอร์สั่งซื้อเสร็จของจะส่งมาถึงหน้าบ้านเพียงในไม่กี่วัน สำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีเวลาออกไปเดินห้างเลือกซื้อสินค้า การซื้อของออนไลน์ถือว่าทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมาก

ผู้เขียนมองว่าจีนเป็นต้นแบบของร้านค้าออนไลน์และการไลฟ์สดออนไลน์ที่ฮอตฮิตกันในปัจจุบัน โมเดลการทำธุรกิจออนไลน์ รูปแบบการเติบโตในแบบของจีนกำลังขยายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไทยก็รวมอยู่ในนั้น เรามองย้อนกลับไปว่าการไลฟ์สดขายของในจีนเริ่มขึ้นเมื่อใด? การมีขึ้นของไลฟ์สดขายของในจีนเริ่มในปี 2016 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นการไลฟ์สดในจีนจำกัดอยู่เพียงการไลฟ์เพื่อการบันเทิงเท่านั้น (ร้องรำทำเพลง) ในเดือนมี.ค.2016 มีแพลตฟอร์มแรกที่เริ่มบุกเบิกการไลฟ์สดขายของคือ แพลตฟอร์ม “Mogu Street” โดยได้ริเริ่มเพิ่มลิงก์สินค้าเข้าไปในช่องไลฟ์สดปกติ และเมื่อผู้ดูกดเปิดลิงก์นั้นจะเห็นสินค้า สามารถกดลงตะกร้าและออเดอร์สั่งซื้อได้ทันที สิ่งที่แพลตฟอร์ม “Mogu Street” ริเริ่มในวันนั้นคือการทำธุรกิจออนไลน์ในโมเดล “ไลฟ์สด + ขายของ”

หลังความสำเร็จของ “Mogu Street” ทำให้หลายแพลตฟอร์มเรียนรู้และทำตามๆ กันอย่างรวดเร็ว ในเดือน เม.ย.ปี 2016 แพลตฟอร์มเถาเป่า (Taobao) เปิดช่องไลฟ์สดขายสินค้า ขณะนั้นเซ็นสัญญาจ้าง เวยย่า (Viya) มาเป็นผู้ไลฟ์สดขายสินค้า ในการไลฟ์สดครั้งแรกคนดูแค่ 200 คน แต่หลังจากเริ่มไม่ถึงครึ่งปีในการขายครั้งหนึ่งเวยย่าสามารถทำยอดขายได้ถึง 100 ล้านหยวน หรือ 500 ล้านบาท ต่อมา แพลตฟอร์มจิงตง (JD.com) เห็นความสำเร็จของเถาเป่าก็เลยเปิดช่องไลฟ์สดบ้าง

รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกานซู่สนับสนุนการไลฟ์สดขายสินค้าเกษตรในพื้นที่  (ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกันซู่ )
ปี 2017-2018 โต่วอิน (Douyin) หรือติ๊กต็อกเวอร์ชันจีน และแพลตฟอร์มไคว่โส่ว (Kuaishou) ก็เริ่มเข้ามาในสนามแข่งขัน โดยไคว่โส่วมีฐานผู้ใช้เมืองชั้นสาม-สี่จำนวนมากเลยใช้วิธีการสร้างนักไลฟ์สดขึ้นมาเองในแต่ละพื้นที่ขายสินค้าเด่นในพื้นที่ตัวเอง ทำให้ขณะนั้นไคว่โส่วขยับขึ้นมาแพลตฟอร์มไลฟ์สดขายของอันดับ 2 รองจากเถาเป่า ในฝั่งของโต่วอินเริ่มช้ากว่าไคว่โส่วเล็กน้อย ช่วงเริ่มต้นตั้งกำแพงไว้สูง คือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องมีผู้ติดตาม 50,000 คนขึ้นไปถึงจะสามารถเปิดฟีทเจอร์ไลฟ์สดขายของได้

ในปี 2019 เป็นปีของ หลีจยาฉี (Li jiaqi) ที่ดังปังถึงขีดสุด เขาเป็นคนที่ทำให้คนจีนทั้งประเทศรู้จักกับการไลฟ์สดขายของและกลายเป็นเทรนด์การซื้อของแบบใหม่ ขณะนั้นเถาเป่ามีลูกค้าประจำบนช่องไลฟ์สดขายของมากกว่า 400 ล้านบัญชี เพราะความสำเร็จของหลีจยาฉี ทำให้นักไลฟ์สดหน้าใหม่เข้ามาในเถาเป่าจนมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอยู่ 117 คนที่ทำยอดขายได้มากกว่า 100 ล้านหยวน หรือ 500 ล้านบาท ไม่เพียงแค่นักไลฟ์สดมืออาชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้านค้าทั้งหลายก็หันมาไลฟ์สดขายของกันมือเป็นระวิง แค่ในปี 2019 จำนวนร้านค้าที่เปิดช่องไลฟ์สดขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 268 เปอร์เซ็นต์ ทำยอดขายรวมกันได้ 2 แสนล้านหยวน หรือ 10 ล้านล้านบาท และเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไลฟ์สดขายของขึ้นไปสู่จุดสูงสุด ทั้งดารานักแสดงจีน อินฟลูเอนเซอร์ ต่างผันตัวเข้ามาเป็นนักไลฟ์สดขายสินค้า โดยใช้ฐานแฟนคลับที่ตนเองมีอยู่

ในจีนมีนักไลฟ์สดเพียงหยิบมือที่รวยอู่ฟู่มีรายได้มหาศาล และในวงการช่องว่างของรายได้ของนักไลฟ์สดก็มีมากโข มีรายงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการแสดงออนไลน์ของจีน (ประเภทไลฟ์สดและวิดีโอสั้น) ประจำปี 2022-2023 กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “นักไลฟ์สดระดับหัวแถวและนักไลฟ์สดหางแถวรายได้ห่างกันสุดโต่ง

จนถึงปลายปี 2022 จีนมีบัญชีไลฟ์สดขายสินค้ามากกว่า 150 ล้านบัญชี และนักไลฟ์สดฟูลไทม์ 95.2 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 5,000 หยวน หรือ 25,000 บาท ในเว็บไซต์หางานดังจีน “boss จ้างตรง” ในปี 2022 ประกาศรับนักไลฟ์สดเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 หยวน หรือประมาณ 60,000 บาท แต่ในปีนี้ลดลงเงินเดือนเปิดรับอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 หยวน หรือประมาณ 30,000-40,000 บาท ลดลงกว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์” ในปัจจุบันมีนักไลฟ์สดหลายคนที่รายได้ลดลงเพราะการแข่งขันที่รุนแรงและคนซื้อไม่ได้เยอะขึ้น คนซื้อมีเท่าเดิมและอาจจะลดลงจากการประหยัดเงินมากขึ้น

อีกทั้งนักไลฟ์สดมือทองหลายคนของจีนเริ่มประสบปัญหาความน่าเชื่อถือ หรือมีข่าวฉาว อย่างเช่นล่าสุด หลีจยาฉี ถูกเปิดโปงกว่าเซ็นสัญญาประกันราคาสินค้ากับโรงงานให้สินค้าที่ขายในไลฟ์สดของเขามีราคาถูกที่สุดบนออนไลน์ สุดท้ายแล้วสินค้าตัวเดียวกันไปลงขายที่ JD.com ราคาถูกกว่าที่หลี่จยาฉีป่าวประกาศว่าถูกที่สุดอีกหลายเท่าตัว ทำให้ชาวจีนทราบโดยทั่วกันว่า หลีจยาฉีจริงๆ แล้วไม่ใช่พ่อค้าตรงไปตรงมา แต่เป็นพ่อค้าหน้าเลือดที่หวังแต่จะทำกำไรสูงสุดเพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น

นายหยูหมินหง (ขวา) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาซินตงฟางที่เคยโด่งดัง ผันตัวมาทำแพลตฟอร์มไลฟ์สดขายสินค้า ในภาพตัวเขากำลังนั่งขายเชอรี่นำเข้าจากชิลี  (ภาพจากโซเชียลจีน sohu.com)
มีชาวเน็ตจีนรายหนึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การไลฟ์สดขายสินค้าในปัจจุบันและความเห็นของเขาได้รับการกดไลก์จากผู้อ่านจำนวนมาก เขาบอกว่า “หากว่าห้างร้านที่หนึ่งวันสามารถทำรายได้เท่ากับหลี่จยาฉี หรือนักไลฟ์ชื่อดัง “ซินปา” ยอดขายวันละหลายร้อยล้านหยวน จะสามารถกระตุ้นการจ้างงานได้หลายพันถึงหมื่นตำแหน่งต่อเดือน และหากว่าห้างร้านอีกหลายแห่งมียอดขายแบบนี้ก็ลองคูณกันเข้าไปว่าจะสามารถสร้างตำแหน่งงานได้มหาศาลแค่ไหน กลับกันในส่วนร้านค้าออนไลน์การจ้างงานมีแค่ในกลุ่มโรงงาน แพลตฟอร์ม นักไลฟ์สด และทีมงานเท่านั้นที่แบ่งเงินมหาศาลตรงนี้ แถมยังผูกขาดตลาดอีก”

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของการค้าออนไลน์และการไลฟ์สดขายของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นความหวังใหม่ของเศรษฐกิจจีน ทำให้ปัจจุบันจีนได้ออกไปตั้งฐานการไลฟ์สดขายสินค้าใน 151 ประเทศรวมไทยด้วยเพื่อขยายการค้าออนไลน์แบบไลฟ์สตรีมมิ่งไปสู่ต่างประเทศ กระจายสินค้าจีน และปัจจุบันยอดขายการไลฟ์สดขายของภายในประเทศมูลค่ามากกว่า 1.98 ล้านล้านหยวน หรือ 9.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.3 เปอร์เซ็นต์ของการค้าออนไลน์ทั้งหมดและสามารถกระตุ้นการจ้างงานได้จำนวนหนึ่ง

ทุกวันนี้ภาคการไลฟ์สดขายของเริ่มเกิดกระแสต้านจากทั้งในจีนและในต่างประเทศ เราคงได้เห็นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไลฟ์สดขายสินค้าจีน คนที่อยากอยู่รอดในสมรภูมิรบนี้ต้องปรับตัว แต่ก่อนนักไลฟ์สดขายสินค้าในจีนมีไม่เพียงพอ แค่ผ่านการอบรมไม่กี่วันก็สามารถเริ่มทำงานได้ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แบบนั้น ประชาชนรู้ทันกลลวงไลฟ์สดขายของมากขึ้น และเริ่มมีการต่อต้านและเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมและหยุดการไลฟ์สดขายออนไลน์เพราะทำให้ร้านค้ารายย่อยต้องปิดตัว และคนมากมายต้องตกงาน ไม่เพียงเท่านี้หลายประเทศเริ่มจำกัดการไลฟ์สดขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อพยุงและปกป้องอุตสาหกรรมและภาคการค้าในประเทศของตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น