ภาคประชาชนแดนมังกรจัดพิธีกันเองในการแสดงความรักอาลัยต่ออดีตนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ผู้ถูกมองว่ามีแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสวนทางกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวจีนได้มารวมตัวกันในเมืองต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้เพื่อไว้อาลัย โดยตรงบริเวณหน้าบ้านเลขที่ 80 ถนนหงซิ่ง เมืองเหอเฟย มณฑลอันฮุย บ้านเกิดซึ่งนายหลี่ เคยอาศัยครั้งเยาว์วัยท่วมท้นไปด้วยช่อดอกเบญจมาศและดอกไม้นานาชนิดที่ประชาชนนำมาแสดงความคารวะและหลายคนร้องไห้
“ทุกคนเศร้า” หญิงคนหนึ่งกล่าว
ส่วนหญิงอีกคนระบุว่า การจากไปของนายหลี่ มันเร็วเกินไป เขาทำงานหนักมากเพื่อประเทศชาติและเธอหวังว่าเขาจะได้พักผ่อนอย่างสงบ
ชาวบ้านบอกว่า มีผู้นำดอกไม้มาไว้อาลัยมากกว่าหนึ่งหมื่นคน
มีการปิดการจราจรบนถนนสายที่ทอดสู่บ้านหลังดังกล่าวช่วงบ่ายวันเสาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางมาไว้อาลัย ซึ่งยืนรอเป็นแถวยาวหลายร้อยเมตร
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีนประกาศว่า สหายหลี่ เค่อเฉียง ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการหัวใจวายเมื่อเวลา 00.10 น. วันที่ 27 ต.ค. ขณะพักผ่อนอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้
ส่วนสำนักข่าวซินหัวประกาศข่าวมรณกรรมอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยระบุว่า เป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประเทศชาติ พร้อมกับสดุดีนายหลี่ ว่า เป็นผู้นำที่โดดเด่น นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้ชาวจีนแปรเปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นความเข้มแข็งและเรียนรู้จิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติตลอดจนอุปนิสัยและรูปแบบการทำงานที่มีคุณธรรมสูงส่งของเขา
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้รัฐบาลจีนยังไม่มีการประกาศการจัดพิธีศพอย่างเป็นทางการ แม้ศพของนายหลี่ ได้เคลื่อนมากรุงปักกิ่งแล้ว โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับวันเวลาในการจัดงานศพและการเชิญแขกต่างประเทศ กล่าวแต่เพียงว่า จะประกาศในเวลาที่เหมาะสม
ท่ามกลางความอึมครึมเกี่ยวกับการจัดพิธีศพ เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า บางมหาวิทยาลัยในจีนได้ขอให้นักศึกษางดจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการไว้อาลัย เนื่องจากเกรงอาจบานปลายเป็นการชุมนุมประท้วง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า จะมีการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในกรุงปักกิ่งในช่วงอีกไม่กี่วันนี้
จากรายงานของสื่อต่างประเทศนั้น เชื่อกันว่า รัฐบาลจีนกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ยกย่องเชิดชูนายหลี่ และเกรงว่าจะเกิดเหตุวุ่นวายลุกลามทั่วประเทศ โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเผชิญกับช่วงเวลาละเอียดอ่อนทางการเมืองในช่วงที่ประชาชนกำลังโศกเศร้าต่อการตายของนายหลี่ ซึ่งการเสียชีวิตของผู้นำระดับสูงของจีนที่ผ่านมาเคยกระตุ้นให้เกิดความวุ่นวายมาแล้ว และการเสียชีวิตของนายหลี่เกิดขึ้นในช่วงที่จีนกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 และประชาชนหางานทำยากขึ้น
นายหลี่ จากไปด้วยวัย 68 ปี เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้การนำของสี จิ้นผิง มา 2 สมัย นับตั้งแต่ปี 2556 รวมระยะเวลา 10 ปี และก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งตำแหน่งการเมืองทั้งหมดเมื่อเดือน มี.ค.2566
ที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า นายหลี่ ซึ่งคุมงานด้านเศรษฐกิจและสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนไปสู่ระบบตลาดที่เปิดกว้างขึ้น จนมีการเรียกขานแนวทางของเขาว่า "หลี่โคโนมิกส์" (Likonomics) นั้นได้ถูกสี จิ้นผิง ลิดรอนอำนาจ และเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างบุคคลทั้งสองในการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งนายหลี่ มีการแสดงออกอย่างเปิดเผย โดยในการวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์เติ้งเสี่ยวเผิงเมื่อเดือน ส.ค.2565 นายหลี่ กล่าวสุนทรพจน์ว่า การปฏิรูปและการเปิดกว้างจะไม่หยุดอยู่กับที่ แม่น้ำเหลือง และแยงซีจะไม่เปลี่ยนเส้นทาง
นอกจากนั้น นายหลี่ยังเถียงว่า ประชาชน 600 ล้านคนในประเทศที่ร่ำรวยเพิ่มขึ้นแห่งนี้ มีรายได้เดือนหนึ่งไม่ถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐ คำพูดของเขากระตุ้นให้สังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้อย่างกว้างขวาง สวนทางกับสิ่งที่คณะทำงานของสี จิ้นผิง ระบุว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศประสบความคืบหน้า
ภายหลังการจากไป คลิปวิดีโอสุนทรพจน์เหล่านี้ของนายหลี่ ซึ่งมองกันว่าแฝงการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของสี จิ้นผิงได้กลายเป็นไวรัลในสื่อโซเชียลของจีน แต่ถูกทางการเซ็นเซอร์ในเวลาต่อมา