xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทผู้ผลิตยาจีนงานเข้า! เอ็นจีโอแฉใช้ชิ้นส่วนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ปรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชิ้นส่วนอวัยวะของเสือดาวและตัวลิ่น (ในภาพ) เป็นส่วนผสมในการปรุงยาตามตำรับการแพทย์แผนจีน - ภาพ : รอยเตอร์
เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมในกรุงลอนดอนเรียกร้องสถาบันการเงินชั้นนำและนักลงทุนทั่วโลก ถอนหุ้นจากบริษัทผู้ผลิตยาแดนมังกร 3 ราย โทษฐานปรุงยาด้วยชิ้นส่วนของเสือดาว และตัวลิ่น หรือนิ่มซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ปักกิ่งถงเหรินถังกรุ๊ป เทียนจินฟาร์มาซูติคอลกรุ๊ป และจี๋หลินอ้าวตงฟาร์มาซูติคอลกรุ๊ป ติดอยู่ในรายชื่อบริษัท 72 แห่ง ซึ่งรายงานของสำนักงานสอบสวนสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency) เมื่อวันจันทร์ (23 ต.ค.)ระบุว่า มีการนำชิ้นส่วนของสัตว์ดังกล่าวมาเป็นส่วนผสมในการปรุงยาตามตำรับการแพทย์แผนจีนอย่างน้อย 88 รายการ และที่ต้องมุ่งเน้นบริษัทยาทั้ง 3 รายของจีน เพราะเป็นบริษัทมหาชน มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนั้น ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ปรุงด้วยชิ้นส่วนของสัตว์บนเว็บไซต์บริษัทอีกด้วย 
นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมกลุ่มนี้ยังระบุว่า มีสถาบันการเงิน 62 แห่ง ซึ่งรวมทั้งธนาคารยูบีเอส ดอยช์แบงก์ เอชเอสบีซีโฮลดิ้งส์ ซิตี้กรุ๊ป และบริษัทจัดการกองทุนแบล็กร็อก (BlackRock) ให้การสนับสนุนความเห็นแก่ได้ที่ก่อความเสียหาย จึงขอเรียกร้องให้นักลงทุนเหล่านี้ถอนหุ้นจากบริษัทผู้ผลิตยาตำรับการแพทย์แผนจีนโดยเร็วที่สุด และขอให้รัฐบาลจีนประกาศห้ามการนำชิ้นส่วนของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ทั้งหมด


ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้รับแจ้งว่า มีนักลงทุนบางราย เช่น เวลส์ฟาร์โกแอนด์โคได้ขายกองทุนที่ลงทุนหรือขายหุ้นในบริษัทยาของจีนเหล่านั้นไปแล้ว ขณะที่เอชเอสบีซีโกลบอลแอสเซตแมเนจเมนต์แคนาดา และรอยัลแบงก์ออฟแคนาดา แจ้งว่า การลงทุนของทางธนาคารจำกัดอยู่แค่การลงทุนในกองทุนรวมแบบ Passive Fund หรือ กองทุนรวมดัชนีเท่านั้น ส่วนยูบีเอสแจ้งว่า ธนาคารถือหุ้นในนามของลูกค้า

สำนักงานกำกับดูแลเวชภัณฑ์แห่งชาติจีนยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มรณรงค์สิ่งแวดล้อมดังกล่าว

จีนมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับแก้ไขเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยห้ามการค้าเพื่อนำสัตว์ป่าส่วนใหญ่มาบริโภคเป็นอาหาร แต่อนุญาตให้เพาะพันธุ์และใช้ประโยชน์ได้ในบางกรณี โดยยาตำรับจีนขึ้นชื่อในเรื่องการนำอวัยวะชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์มาเป็นส่วนผสม และบริษัทผู้ผลิตมักโฆษณาสรรพคุณและแสดงส่วนผสมของยาบนบรรจุภัณฑ์


ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น