xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย 10 ปี จีนผลักดันความร่วมมือ “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ไปไกลแค่ไหนแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิด “การประชุมเวทีความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ” เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2023 (ภาพรอยเตอร์)
ในสัปดาห์นี้ปักกิ่งวิ่งวุ่นฝุ่นตลบต้อนรับอาคันตุกะจากทั่วโลกกว่า 140 ประเทศ ที่หลั่งไหลมาเข้าร่วม “การประชุมเวทีความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ” (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. ณ กรุงปักกิ่ง

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 10 ปี ที่จีนผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้กรอบ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” สำหรับบทความชิ้นนี้ขอนำเสนอสาระว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือและเป้าหมาย พร้อมกับเผยโครงการ 10 โครงการในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ที่ถือเป็น “แลนด์มาร์ก” หรือ "สัญลักษณ์" ของ“ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

นักวิชาการจีน หวังอี้เหวย ผู้อำนวยการกิจการระหว่างประเทศ ประจำมหาวิทยาลัยประชาชนจีน ชี้ว่าด้วยการสร้าง “โลกาภิวัตน์สไตล์อเมริกัน” ดูไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน จีนจึงได้เสนอความริเริ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศที่กว้างไกลก้าวหน้ากว่าที่เรียกขาน ว่า ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) ซึ่งเป็นการฟื้น “เส้นทางสายไหมยุคโบราณ” ที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีนมากขึ้น เป็นเส้นทางสายไหมโฉมใหม่ที่ทันสมัย และเชื่อมโยงประชาชนทั่วไป

ในด้านของจีน การสร้างสายแถบและเส้นทางเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการเปิดกว้างอย่างรอบด้าน เป็นกรอบงานเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ของการทูตชายขอบ

สี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยนาซาบาเยฟ ในคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2013 นำเสนอแนวคิดความร่วมมือ “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสวายไหม” ครั้งแรก (แฟ้มภาพซินหัว)
กำเนิด “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

ในเดือนกันยายน ปี 2013 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนประเทศคาซัคสถาน ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยนาซาบาเยฟ ชี้ว่า “การผลักดันสัมพันธภาพด้านเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้น ความร่วมมือที่ลงลึก และการขยายการพัฒนาในภูมิภาคยูเรเซีย ต้องอาศัยแนวทางเข้าสู่แบบใหม่และร่วมกันสร้าง “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) เพื่อผลักดันให้แนวคิดนี้เป็นจริง นี่คือ การนำเสนอ “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ครั้งแรกของผู้นำจีน

ต่อมา ในเดือนตุลาคม 2013 สี จิ้นผิงได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้นำแบบไม่เป็นทางการบนเวทีความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (Apec) สีชี้ว่าในสมัยโบราณ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางสำคัญของ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” จีนพร้อมที่จะทำงานกับประเทศอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล พัฒนาคู่หุ้นส่วนทางทะเล ร่วมกันสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งยุคศตวรรษที่ 21”

ดังนั้น “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งยุคศตวรรษที่ 21” ที่บูรณาการสู่ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จึงกลายเป็นโมเดลของความร่วมมือระหว่างภูมิภาคที่เชื่อมโยงทั้งด้านนโยบาย การค้า โครงสร้างพื้นฐาน กองทุน และประชาชนในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป

จีนได้เน้นย้ำอีกว่า สำหรับการสร้างความร่วมมือเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งยุคศตวรรษที่ 21 จะมุ่งไปที่การยกเครื่องปรับปรุงใหม่ท่าเรือ ช่องทางเดินเรือขนส่งสินค้า และความสามารถในการขนส่งทางเรือสมัยใหม่ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าจีนจะไม่ตามรอยวิธีการของเหล่าชาติอำนาจตะวันตกที่มุ่งขยายอิทธิพลทางทะเล ยั่วยุการเผชิญหน้า และการสร้างอาณานิคม อีกทั้งไม่ดำเนินแนวทางที่ผิดๆ ในการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ เพื่อสร้างอำนาจครอบงำทางทะเล

จีนจะแสวงหาความหนทางที่มีประสิทธิภาพหลีกเลี่ยงการสร้างความเสี่ยงแบบเก่าในการสร้างโลกาภิวัตน์ การสร้างสายแถบและเส้นทางจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสังคมมนุษย์แบบใหม่และยั่งยืน ด้วยแนวคิดบูรณาการองค์ประกอบห้าด้านเป็นหนึ่ง (five in one) ได้แก่ ส่งเสริมเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม และการสร้างนิเวศวิทยา

ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง 
จะเกิดจากเครือข่ายการคมนาคมยูเรเซีย ระบบเชื่อมโยงถึงกันทั้งสามมิติแบบบูรณาการที่ประกอบด้วยทางรถไฟ ไฮเวย์ เส้นทางอากาศ เส้นทางเดินเรือ ท่อขนส่งน้ำมันและแก๊ส เครือข่ายการสื่อสารและสายส่งสัญญาณต่างๆ ด้วยช่องทางหรือเส้นทางเหล่านี้จะค่อยๆ ก่อรูปคลัสเตอร์อุตสาหกรรม จากนั้นจะกลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจ ที่ประกอบด้วยการพัฒนาครบวงจรในภาคการก่อสร้าง พลังงาน การเงิน การสื่อสาร ข้อมูล โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคนิคที่ลงลึก สร้างเขตการค้าเสรี และกลายเป็นตลาดยูเรเซียขนาดมหึมา

นับจากวันที่สี จิ้นผิง แถลงวิสัยทัศนดังกล่าว ก็ทุ่มเทผลักดันความริเริ่มนี้ให้เป็นจริงด้วยตัวเอง ทั้งการวางแผน ผลักดันให้โครงการต่างๆให้เดินหน้าจนแล้วเสร็จ ขณะนี้ความร่วมมือ 3,000 กว่ารายการได้ก่อรูปขึ้นมาแล้ว

มาดู 10 โครงการที่ถือเป็น “แลนด์มาร์ก” ที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงดอกผลอันอุดมจากความร่วมมือผุดโครงการต่างๆ ภายใต้กรอบ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่สื่อทางการจีนได้นำเสนอในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินความริเริ่มนี้

ขบวนรถไฟกำลังแล่นผ่านอุโมงค์มิตรภาพบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว (แฟ้มภาพซินหัว)
1) เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เป็นโครงการสัญลักษณ์ของ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” “เส้นทางมิตรภาพ” ระหว่างสองประเทศที่ฝ่าอุปสรรคภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาแม่น้ำ ในที่สุดก็เปิดใช้ในเดือนธันวาคม 2021 เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เริ่มต้นจากทางเหนือที่นครคุนหมิงของมณฑลยูนนาน ทอดตัวลงใต้ไปจนถึงนครเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว ความยาวทั้งสิ้น 1,035 กิโลเมตร

หลังเปิดเดินรถทั้งเส้นทาง ทำให้การเดินทางจากนครเวียงจันทน์ไปถึงชายแดนจีน-ลาวใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง จากก่อนหน้าที่ต้องเสียเวลาเดินทาง 2 วัน และการเดินทางต่อไปยังคุนหมิง ก็ไม่ไกลอีกทั้งเดินทางสะดวก

2) เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมนครจาการ์ตาไปยังบันดุง (Jakarta-Bandung High-Speed Railway) เป็นโครงการเรือธงของ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ในเดือนมกราคม 2016 สี จิ้นผิงได้ส่งสาสน์ถึงประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย อวยพรการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากจาการ์ตาถึงบันดุง

ทางรถไฟความเร็วสูงจากจาการ์ตา-บันดุง เปิดใช้ในเดือน ต.ค.2023 เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของอินโดนีเซียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตราเร็วของขบวนรถไฟที่วิ่งบนเส้นทางนี้ถูกออกแบบให้แล่นเร็วสุดที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การก่อสร้างเส้นทางรถไฟทั้งสายใช้เทคโนโลยีจีน มาตรฐานจีน หลังการเปิดเดินรถ การเดินทางระหว่างจาการ์ตาและบันดุงใช้เวลาเพียง 40 กว่านาที จากก่อนหน้าที่ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงกว่า

รถไฟความเร็วสูงวิ่งบนทางรถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุง ในเมืองปูร์วาการ์ตาของอินโดนีเซีย ภาพวันที่ 30 ก.ย.2023 (แฟ้มภาพซินหัว)
3) เมืองท่าเรือโคลอมโบ (Colombo Port City) เป็นโครงการแบบอย่างของ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เดือน ก.ย. ปี 2014 สีจิ้นผิงไปเยือนประเทศศรีลังกา ผู้นำสองประเทศได้ตัดริบบิ้น วางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้าง

การผุดเมืองท่าเรือโคลอมโบเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ก่อสร้างโดยใช้ทรายถมทะเลเป็นพื้นที่ใหม่ 2.69 ตารางกิโลเมตรในย่านใจกลางกรุงโคลอมโบ เป็นศูนย์กลางระดับไฮเอนด์ที่บูรณาการด้านการเงิน การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ไอที และอื่นๆ และเป็นประตูสู่เอเชียใต้ คาดว่าโปรเจกต์นี้จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2041

4) สะพานมิตรภาพจีนและมัลดีฟส์ ‘Sinamalé Bridge’ เป็นโครงการสัญลักษณ์ของ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” เป็นสะพานข้ามทะเลแห่งแรกของประเทศมัลดีฟส์

สะพานมิตรภาพจีนและมัลดีฟส์ เปิดใช้ในเดือน ส.ค.2018 ตัวสะพานยาว 1.3 กิโลเมตร เชื่อมหมู่เกาะต่างๆ ของเมืองหลวง Male และเกาะที่ตั้งสนามบิน ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปมาระหว่างเกาะเหล่านี้โดยใช้เวลาเพียง 5 นาที

5) เขตความร่วมมือเศรษฐกิจ-การค้าระหว่างจีนและอียิปต์ ‘TEDA SUEZ’ เป็นโครงการร่วมมือที่เชื่อมต่อความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับระเบียงเศรษฐกิจคลองสุเอซ ในเดือน ม.ค. ปี 2016 ผู้นำสูงสุดของสองประเทศได้ทำพิธีเปิดเขตความร่วมมือเศรษฐกิจ-การค้าคลองสุเอซ

จากข้อมูลนับถึงเดือน มิ.ย.2023 เขตความร่วมมือเศรษฐกิจ-การค้าคลองสุเอซได้ดึงดูดบริษัท 145 ราย เข้ามาร่วม มูลค่าการลงทุน กว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เก็บภาษีได้กว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

6) เซเนกัลเป็นชาติแรกในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกที่เซ็นสัญญาความร่วมมือความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กับจีน ในเดือน ก.พ.2014 ประธานาธิบดีเซเนกัลไปเยือนจีน และได้เซ็นสัญญาโครงการก่อสร้างสนามมวยปล้ำกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในปี 2018 สี จิ้นผิงไปเยือนเซเนกัลและได้มอบ “กุญแจทองคำ” ของสนามมวยปล้ำให้ประธานาธิบดีเซเนกัล

การประลองมวยปล้ำเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศเซเนกัล โครงการนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างสองประเทศ สนามมวยปล้ำนี้มีพื้นที่ 18,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ชมในคราวเดียว 20,000 คน เป็นสนามมวยที่ทันสมัยแห่งแรกของทวีปแอฟริกา

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พูดคุยกับตัวแทนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ขณะเยี่ยมชมท่าเรือไพรีอัสในกรีซ ภาพวันที่ 11 พ.ย.2019 (แฟ้มภาพซินหัว)
7) เดือน พ.ย. ปี 2019 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยือนประเทศกรีซ และตรงมาที่ ท่าเรือไพรีอัส (Piraeus Harbour) ตรวจโครงการร่วมมือในความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ปัจจุบันท่าเรือไพรีอัสกลายเป็นท่าคอนเทนเนอร์หรือท่าเทียบตู้สินค้าใหญ่อันดับที่ 4 ของยุโรป

8) นิคมอุตสาหกรรมจีน-เบลารุส (China-Belarus Industrial Park) ตั้งอยู่ในชานเมืองมินสก์ ถูกเรียกขานเป็น “ไข่มุกล้ำค่าของ “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ในเดือน พ.ค. ปี 2015 สี จิ้นผิงมาเยือนเบลารุส และตรวจงานนิคมอุตสาหกรรมนี้ ปัจจุบันสวนอุตสาหกรรมจีน-เบลารุส ดึงดูดบริษัทกว่า 110 รายมาร่วม เม็ดเงินลงทุนที่ระบุในโครงการรวมทั้งสิ้นกว่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

9) โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ (Kirchner-Sepenick Hydropower Project) ในอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยือนอาร์เจนตินาในปี 2014 และได้เซ็นสัญญาร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเหนือแม่น้ำซานตาครูซ เป็นโครงการวิศวกรรมชลศาสตร์ที่ใหญ่สุดของอาร์เจนตินา คาดว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 4,950 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ตอบสนองความต้องการใช้น้ำในชีวิตประจำวันของครัวเรือนอาร์เจนตินา 1.5 ล้านครัวเรือน และอาจส่งออกไปต่างประเทศ

10) โรงเรียนมิตรภาพจีน-ปาปัวนิวกินี ‘BUTUKA ACADEMY’ เดือน พ.ย. ปี 2018 สี จิ้นผิงเยือนประเทศปาปัวนิวกินี และร่วมพิธีเปิดโรงเรียนที่จีนให้งบช่วยเหลือการก่อสร้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น