xs
xsm
sm
md
lg

ซีเอ็นเอ็นรายงานการประชุมบีอาร์เอฟ ปูติน-สี จิ้นผิงหวานชื่น ถกความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส ผนึกกำลังสร้างระเบียบโลกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย พูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ระหว่างพิธีต้อนรับแขกผู้มาร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 - ภาพ : รอยเตอร์
ซีเอ็นเอ็นสื่อของสหรัฐอเมริกาเกาะติดการประชุมบีอาร์เอฟ ระบุผู้นำรัสเซียและจีนหารือกันเกี่ยวกับความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางนอกรอบการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ( BRF) ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การมาชุมนุมกันของนานาชาติในเมืองหลวงของจีน ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้นำและตัวแทนจากชาติในโลกใต้ (Global South เป็นคำนิยามสำหรับชาติกำลังพัฒนา) เกิดขึ้นภายใต้เงาสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส ซึ่งส่อลางร้ายว่าอาจบานปลายไปสู่ความขัดแย้งระดับภูมิภาคในวงกว้าง โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียแถลงข่าวว่า เขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนมีการหารือกันนอกรอบการประชุมบีอาร์เอฟเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) เกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางอย่างละเอียด และเขาได้แจ้งให้ทราบอย่างละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนด้วยเช่นกัน ปูตินยังระบุว่า ปัจจัยภายนอกเหล่านี้เป็นภัยคุกคามที่จีนและรัสเซียมีเหมือนๆ กัน ซึ่งทำให้ชาติทั้งสองใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
ซีเอ็นเอ็นตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งปูตินและสีมิได้เอ่ยถึงความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาสในการกล่าวเปิดการประชุมบีอาร์เอฟ ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสยุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนดำเนินมาครบ 10 ปี มีแต่นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเป็นผู้นำคนเดียว ที่พูดถึงความขัดแย้งนี้ในพิธีเปิดการประชุม

ซีเอ็นเอ็นระบุว่า ความขัดแย้งซึ่งอุบัติขึ้น หลังจากกลุ่มติดอาวุธฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อต้นเดือนแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกที่ยิ่งลึกล้ำระหว่างมหาอำนาจในโลก โดยจีนและรัสเซียเรียกร้องให้มีการหยุดยิง และปฏิเสธการประณามฮามาส แต่ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำชาติทั่วยุโรปหลั่งไหลสนับสนุนอิสราเอล นอกจากนั้น ในวันพุธวันเดียวกับการหารือนอกรอบปูติน-สี จิ้นผิง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้เยือนอิสราเอล และประกาศกำจัดฮามาสให้สิ้นซาก


โลกหลายขั้วอำนาจที่เป็นธรรมกว่าเดิม

ซีเอ็นเอ็นยังระบุว่า การประชุมบีอาร์เอฟครั้งนี้ตอกย้ำความไว้วางใจกันในทางการเมืองระหว่างสี จิ้นผิง กับปูตินอย่างลึกซึ้ง โดยในพิธีเปิดการประชุมปูตินได้กล่าวยกย่องยุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งสีเป็นผู้ริเริ่มว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างโลกที่ประกอบด้วยหลายขั้วอำนาจและมีความยุติธรรมยิ่งขึ้น โดยรัสเซียมีความเห็นตรงกันกับจีนอย่างยิ่ง

ปูตินระบุว่า ความร่วมมือที่ก่อประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมเป็นปณิธานที่รัสเซียและจีนมีร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการเคารพความหลากหลายของอารยธรรมและสิทธิของทุกรัฐในการพัฒนาประเทศตามรูปแบบของตนเอง เห็นได้ชัดว่าคำพูดของปูตินเป็นการศอกกลับพวกที่ชอบเรียกร้องให้ผู้นำเผด็จการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนในประเทศ


การมากรุงปักกิ่งเป็นการเยือนต่างประเทศที่เกิดขึ้นได้น้อยมากสำหรับปูติน เนื่องจากเขาถูกชาติตะวันตกรังเกียจและถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน

ทางเลือกใหม่ของระเบียบโลก


ด้านสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ระบุ ยุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางคือรูปแบบความร่วมมือกันในการพัฒนา อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับโลก นอกจากนั้น ผู้นำจีนยังสวนกลับสหรัฐฯ อย่างอ้อมๆ ว่า จีนคัดค้านการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การแยกส่วนและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

“การเผชิญหน้ากันทางอุดมการณ์ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และการสร้างกลุ่มทางการเมืองไม่ใช่ทางเลือกสำหรับเรา”


“การมองว่าการพัฒนาของผู้อื่นเป็นภัยคุกคาม หรือการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจเป็นความเสี่ยง จะไม่ทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้นหรือทำให้เกิดการพัฒนาเร็วขึ้น” เขากล่าว


ขณะที่ผู้นำชาติอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งประธานาธิบดี คาสซิม โจมาร์ต โตกาเยฟ แห่งคาซัคสถาน และประธานาธิบดี โจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย กล่าวสุนทรพจน์ไปในแนวทางเดียวกับเสียงเรียกร้องของผู้นำจีน


นายยาร์ โมฮัมหมัด รามาซาน ผู้แทนจากกระทรวงการขนส่งและการบิน ซึ่งร่วมคณะนำโดยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าของรัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถานระบุกับซีเอ็นเอ็นว่า อัฟกานิสถานต้องการมีบทบาทมากขึ้นในโครงการต่างๆ ของยุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเชื่อมโยงเอเชียกลาง เอเชียใต้ และอ่าวเปอร์เซียเข้าด้วยกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น