xs
xsm
sm
md
lg

ความลำเอียงของพี่กัน สุมเชื้อไฟการสู้รบอิสราเอล-ฮามาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประชาชนนครนิวยอร์กเดินขบวนสนับสนุนปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2566 หลังจากกลุ่มติดอาวุธฮามาสโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่จนอิสราเอลต้องประกาศภาวะสงคราม - ภาพ : เอเอฟพี
นักสังเกตการณ์ของจีนวิจารณ์ปฏิกิริยาตอบสนองของสหรัฐอเมริกาต่อเหตุการณ์เขย่าโลกฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลว่า สหรัฐฯ เลือกอยู่ข้างอิสราเอล ซึ่งเท่ากับเป็นการเติมเชื้อเพลิงความขัดแย้งแบบเดียวกับที่สหรัฐฯ ทำกับการสู้รบในยูเครน

สหรัฐฯ ส่งกองเรือรบซึ่งประจำการในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือ เรือบรรทุกเครื่องบินเจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ด เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถี 5 ลำ และเรือพิฆาตอีกหลายลำ แล่นตรงไปอยู่ใกล้ชายฝั่งประเทศอิสราเอลในทันที หลังจากกลุ่มติดอาวุธฮามาสโจมตีอิสราเอลสายฟ้าแลบเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.)

ฮามาสซึ่งเป็นชาวปาเลสไตน์กลุ่มที่ยึดครองอำนาจเหนือเขตฉนวนกาซาขู่คำรามว่าการส่งกองเรือรบเท่ากับสหรัฐฯ กำลังมีส่วนร่วมใน “การรุกรานชาวปาเลสไตน์”

“อิสราเอลมีอำนาจทางทหารเหนือกว่าปาเลสไตน์อยู่แล้ว ถ้าสหรัฐฯ ต้องการสันติภาพก็ควรดำเนินการเพื่อให้สถานการณ์สงบลง แทนให้การสนับสนุนอิสราเอลอยู่ข้างเดียว” นายเทียน เหวินหลิง นักวิจัยประจำสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีนให้ความเห็น


นักสังเกตการณ์บนแดนมังกรมองการโจมตีครั้งนี้ว่า เป็นการประท้วงนโยบายอันเห็นแก่ตัวของสหรัฐฯ ที่พยายามผลักดันให้อิสราเอลกับชาติอาหรับเป็นมิตรกัน แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กลับเมินเฉยต่อความต้องการของชาวปาเลสไตน์ ที่มุ่งหวังก่อตั้งรัฐอิสระในดินแดนที่ถูกอิสราเอลยึดครอง จึงนับเป็นความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายตะวันออกกลางของสหรัฐฯ

นายหลิว จงหมิน อาจารย์ประจำสถาบันตะวันออกกลางศึกษาของมหาวิทยาลัยนานาชาติศึกษาเซี่ยงไฮ้ยังมองว่า การส่งเรือรบเพื่อแสดงในเชิงสัญลักษณ์ว่าสนับสนุนอิสราเอล และมุ่งขัดขวางอิหร่านนั้นอาจเป็นวิธีเดียวที่วอชิงตันสามารถทำได้ในตอนนี้ เพราะการโจมตีสายฟ้าแลบของฮามาสเป็นสิ่งเหนือคาดจนสหรัฐฯ ไปไม่ถูกว่าจะตอบโต้และยืนยันบทบาทของตนเองในตะวันออกกลางอย่างไร

คาดว่าการสู้รบจะยืดเยื้อหลายสัปดาห์ เพราะเหตุโจมตีอิสราเอลครั้งรุนแรงสุดเท่าที่เคยมีมาในหนึ่งชั่วอายุคนนี้ ถ้านายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ไม่ตอบโต้อย่างดุเดือดกลับแล้ว รัฐบาลฝ่ายขวาของเขาย่อมตกอยู่ในอันตราย ขณะที่ฝ่ายฮามาสเองก็ไม่ยอมถอย เนื่องจากมองกันว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งสุดท้าย ในการขัดขวางการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับปกติซาอุดีอาระเบีย-อิสราเอล 

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน หวังว่าความสำเร็จในฐานะคนกลางเจรจาระหว่างซาอุฯกับอิสราเอลจะส่งเสริมบทบาทของเขาในตะวันออกกลางก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า แต่การโจมตีของฮามาสกลับกลายเป็นว่า ไบเดนถูกลากเข้าไปในวิกฤตการณ์สู้รบด้วย ขณะที่พรรครีพับลิกันฝ่ายค้านจวกว่า เหตุโจมตีครั้งนี้เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของสหรัฐฯ บนเวทีโลกและรัฐบาลของไบเดนต้องมีส่วนรับผิดชอบ

นายซุน เต๋อกัง ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันออกกลางศึกษาของมหาวิทยาลัยฟูตัน ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่เพียงแต่มีแนวโน้มเลือกข้างในทุกวิกฤตแล้ว สหรัฐฯ ยังกดดันให้ชาติอื่นๆ อยู่ข้างตนเอง ดังเช่นวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในขณะนี้ก็เช่นกัน และจีนกำลังถูกกดดันให้ออกมาประณามฮามาส


แต่จีนไม่เอาด้วย โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกร้องเมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) ให้ทุกฝ่ายยุติการสู้รบโดยเร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์ทวีความเลวร้าย และจีนเชื่อว่าการเจรจาเป็นวิธีการพื้นฐานในการแก้ไขปัญหา


ที่มา : โกลบอลไทมส์



กำลังโหลดความคิดเห็น