xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights&:จีนทุ่มเทแค่ไหนกับการหา “เพื่อนแท้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มนักศึกษาต่างชาติจากมหาวิทยาลัยหลินอี๋ เมืองหลินอี๋ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน กำลังเรียนรู้และสัมผัสเสน่ห์ของวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบดั้งเดิมของจีน ภาพวันที่ 17 ก.พ. 2023 (แฟ้มภาพซินหัว)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์และแนวทางการต่างประเทศของจีนที่นับว่าเป็นภาคส่วนหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญที่สุด เพราะความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศจะทำให้จีนสามารถยืนหยัดได้ในเวทีโลกอย่างสง่าผ่าเผย การได้รับการยอมรับในเวทีโลกถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้การพัฒนาของจีนรุดหน้าและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

รัฐบาลจีนได้ออกประกาศแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2023 โดยในรายงานแสดงตัวเลขงบประมาณทั้งหมดของปีนี้ 3.7 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6.5% ในจำนวนนี้งบประมาณค่าใช้จ่ายทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 12.2% มีจำนวนเงินงบประมาณ 54,800 ล้านหยวน และที่น่าสนใจคืองบประมาณค่าใช้จ่ายทางการทูตและความสัมพันธ์ประเทศของจีนในปีนี้ “อัตราการเติบโต” สูงกว่างบประมาณทางการทหารที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.2% (งบประมาณทางการทหารและการป้องกันประเทศของจีนในปีนี้มีจำนวน 1.5 ล้านล้านหยวน) งบประมาณทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนในปี 2022 ก็มีอัตราการเพิ่มงบประมาณเติบโตกว่า 10.8% อัตราการเพิ่มของงบประมาณด้านการทูตที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าจีนให้ความสำคัญกับการร่วมมือ “ภาคการต่างประเทศ” เป็นอย่างมาก

งบประมาณของจีนในส่วนการต่างประเทศ ส่วนใหญ่ถูกจ่ายไปให้บรรดาองค์กรระหว่างประเทศที่จีนได้เข้าร่วม (ค่าสมาชิกรายปี) โดยงบประมาณในส่วนนี้จะถูกเบิกจ่ายในนามกระทรวงการต่างประเทศจีนและจ่ายให้องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่จีนเป็นสมาชิกอยู่ เช่น สหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน องค์การสนธิสัญญาห้ามอาวุธเคมี องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น การชำระค่าธรรมเนียมสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศถือเป็นข้อกำหนดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับจีน เพราะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐสมาชิกและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำทา 1 บนแม่น้ำน้ำทาในแขวงบ่อแก้วทางตอนเหนือของลาว เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้กรอบการทำงานของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน (แฟ้มภาพซินหัว)
ในจีนมีประโยคที่ว่า “จะมีเพื่อนได้ต้องจ่ายเงิน” (交朋友,要花钱)  ในระดับประเทศการที่จะเป็น “เพื่อน” กันได้คือต้องมีการร่วมมือแบบ ‘วินวิน’ หรือได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แล้วการต่างประเทศในแบบจีนก็มีลักษณะพิเศษที่ทั่วโลกทราบกันคือเป็น “พ่อบุญทุ่ม” จนในวงการสื่อจีนยังเคยกล่าวถึงการเมืองแบบจีนว่าเป็นแบบ “การต่างประเทศแบบโปรยเงิน” (撒钱外交) โดยผู้เขียนมองว่านโยบายการต่างประเทศแบบโปรยเงินของจีนเห็นได้ชัดเจนจาก ‘นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ที่ถูกก่อตั้งและเป็นแนวทางหลักของจีนในการร่วมมือประหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา

ตั้งแต่เป้าหมายของจีนกับการร่วมมือกับต่างประเทศอยู่ภายใต้ กรอบนโยบายความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จีนออกเงินกู้ช่วยเหลือกับนานาประเทศสูงถึงหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะแค่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจีนนำเงินออกไปลงทุนมากกว่า 8.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และตามรายงานของสื่อจีนโกลบอลไทม์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ จีนให้ความช่วยเหลือรัสเซียมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้การช่วยเหลือเวเนซุเอลาประมาณ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้การช่วยเหลือแก่อินโดนีเซีย 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้การช่วยเหลือแก่ละตินอเมริกาสูงถึง 1.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้การช่วยเหลือแก่บราซิล 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้การช่วยเหลือแก่เอกวาดอร์ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ความช่วยเหลือกับแอฟริกา 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศอื่นๆ อีกมากมาย

โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกาถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่จีนให้การช่วยเหลืออย่างเข้มข้น ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จีนหยิบยื่นการช่วยเหลือให้ประเทศแอฟริกา 51 ประเทศ มีตั้งโครงการช่วยเหลือยิบย่อยมากกว่า 1,666 โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ทางรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนโดยตรง มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนแอฟริกาให้หลุดพ้นจากความยากจน และยังมีอีกหนึ่งประเทศที่จีนช่วยแบบไม่ออกข่าวไม่เปิดเผย คือ “เกาหลีเหนือ” โดยมีการคาดการณ์ว่าได้รับการช่วยเหลือจากจีนแต่ละปีอาจจะมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!

จีนมีเป้าหมายโฟกัสการร่วมมือระหว่าง “ประเทศกำลังพัฒนา” ด้วยกัน เพราะจีนถือว่าตนเองเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและเป็นประเทศกำลังพัฒนาดาวรุ่ง ดังนั้น จีนสามารถนำประสบการณ์การพัฒนาของตนเองมาช่วยเหลือและแชร์กับเพื่อนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้านทางการทูตจีนยืนหยัดมาโดยตลอดกับการพัฒนาร่วมกันแบบไม่แทรกแซงกิจการภายใน จีนแสดงการเป็นมิตรกับทุกประเทศ พร้อมให้การช่วยเหลือและจะเข้าไปช่วยอย่างเต็มที่ “กับประเทศที่จีนจะมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ในอนาคต”

กรอบการร่วมมือภายใต้กรอบหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนผลักดันนั้นครอบคลุมหลายภาคส่วน ไม่เพียงแค่การกู้ยืมหรือช่วยเหลือด้านโครงการก่อสร้างพื้นฐาน ยังให้การสนับสนุนด้านการค้า การศึกษา และการร่วมมือด้านวัฒนธรรมระดับประชาชนระหว่างประเทศ เป็นต้น

รถไฟสินค้าออกเดินทางจากเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน นำสินค้าส่งออกจีนไปกลุ่มประเทศสมาชิกหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง วันที่ 21 เม.ย.2022 (แฟ้มภาพซินหัว)
อีกประเด็นร้อนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศที่จีนลงเงินทุนและลงแรงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีคือ “การให้ทุนการศึกษามหาศาลแก่นักศึกษาต่างชาติ” ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนที่จีน โดยเฉพาะประเทศที่เข้าร่วมการร่วมมือในกรอบหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะได้โควตาทุนมากเป็นพิเศษก็เพื่อขยายอิทธิพลของจีนในเวทีโลก ให้ชาวต่างชาติหันมาเรียนภาษาจีนกันมากขึ้น และให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในจีนมีการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศมากขึ้น ผลักดัน ‘ดัชนีวัดความสำเร็จ’ (Key Performance Indicator/KPI) ของมหาวิทยาลัยด้านระดับความเป็นอินเตอร์ ผู้เขียนเองในฐานะที่เคยทำงานคลุกคลีในภาคส่วนการบริหารนักศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยจีนแห่งหนึ่ง ก็ได้เห็นความทุ่มเทและการพยายามดูแลนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่ได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลจีน “บางประเทศได้รับการดูแลดีเป็นพิเศษ” ประเทศที่ได้โควตาทุนเยอะก็แสดงว่ามีความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยมกับจีน นักเรียนต่างชาติที่ได้รับทุนเต็มจำนวนส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะทางสังคมหรือเป็นกลุ่มคนมีเส้นมีสายในประเทศของตนเอง ดังนั้น จีนจึงมองว่ากลุ่มเด็กต่างชาติกลุ่มนี้เมื่อได้รับทุนการศึกษาและจบการศึกษาจากจีนไปแล้วจะเป็นกลไกผลักดันสนับสนุนจีนบนเวทีโลกในอนาคต

แต่การให้ทุนการศึกษากับนักเรียนต่างชาติด้วยจำนวนเงินมหาศาลอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลจีน ทำให้ปัจจุบันปะทุเป็นประเด็นเดือดในโซเชียล ที่เริ่มมีชาวเน็ตออกมาเปิดเผยเอกสารหรือข้อมูลถึงเงินที่นักศึกษาต่างชาติที่ได้รับทุนเรียนและค่าครองชีพเต็มจำนวน ที่เฉลี่ยแต่ละคนมีเงินรายเดือนมากกว่า 5,000 หยวน หรือเกือบ 25,000 บาท (ทุนบางประเภทนักศึกษาต่างชาติต่อคนได้เงินดำรงชีพรายเดือนมากกว่า 8,000 หยวน หรือ 45,000 บาท ไม่รวมหอพักห้องเดี่ยวที่พักฟรี) ชาวเน็ตจีนเกือบ 100% ต่อต้าน “ความเหลื่อมล้ำ” นี้ และเรียกร้องให้ปฏิบัติกับนักศึกษาต่างชาติเฉกเช่นกับนักศึกษาจีน ควรนำเงินมาช่วยเหลือการศึกษากับเด็กจีนด้อยโอกาสที่ยังมีอีกมากมายในประเทศ และยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งขาดแคลนทุนทรัพย์สร้างห้องทดลองและห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

จีนที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจและแรงเงินในการหาเพื่อนแท้! และภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ถดถอยจีนกับการเป็น “เดอะแบก” ให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย จะยั่งยืนและมั่นคงแค่ไหนก็คงต้องดูกันต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น