ระหว่างการประชุมผู้นำชาติจี20 ที่อินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้นำอินเดีย สหรัฐอเมริกา และซาอุดีอาระเบียได้ประกาศจัดตั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอินเดียกับภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป (ไอเอ็มอีซี) โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) สหภาพยุโรป (อียู) อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี
ถ้าระเบียงเศรษฐกิจแห่งใหม่ทำสำเร็จจะกระตุ้นการค้าระหว่างภูมิภาคเหล่านี้และน่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงทางพลังงาน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ไอเอ็มอีซีเกิดมา เพื่อท้าทายโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative - บีอาร์ไอ) ของจีนโดยแท้
บีอาร์ไอเป็นระเบียงมหึมา ที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา และละตินอเมริกา ทำให้จีนสามารถแผ่อิทธิพลในหมู่นานาชาติได้อย่างมากมาย
ขณะที่จุดเด่นของไอเอ็มอีซีคือการสร้างเส้นทางรถไฟ เส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเล และถนนเชื่อมถึงกัน โดยแบ่งระเบียงเศรษฐกิจเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ระเบียงด้านตะวันออกเชื่อมอินเดียกับอ่าวเปอร์เซีย และระเบียงด้านเหนือเชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับยุโรป นอกจากนี้ จะมีการสร้างท่อส่งก๊าซไฮโดรเจนและสายไฟฟ้าตามแนวเส้นทางรถไฟด้วย
นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป พูดถึงโครงการนี้ว่าเป็น
“สะพานสีเขียวและดิจิทัลข้ามทวีปและอารยธรรม” ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เรียกระเบียงเศรษฐกิจแห่งใหม่นี้ว่า “การเปลี่ยนเกม” ขณะที่มกุฎราชุกมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุฯ ยกย่องว่า เป็นการประกาศครั้งประวัติศาสตร์ ส่วนนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดียกล่าวว่า การเชื่อมโยงแห่งใหม่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปทั่วโลก
แต่ไอเอ็มอีซีจะเกิดขึ้นเป็นจริงเมื่อใด เพราะรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการยังไม่ชัดเจนว่าจะสร้างกันอย่างไร หรือใครจะเป็นโต้โผใหญ่
นายไมเคิล คูเกลแมน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้ของวิลสันเซ็นเตอร์ในกรุงวอชิงตันติง กล่วว่า ด้วยขนาดที่แท้จริงของโครงการซึ่งใหญ่โตมโหฬาร ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมและสภาพภูมิศาสตร์ จึงอาจเป็นเรื่องทะเยอทะยานและซับซ้อนเกินไปจนทำไม่สำเร็จ
ชาติจี7 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ กับ 5 ชาติตะวันตกและญี่ปุ่นเคยประกาศโครงการริเริ่มคล้ายๆ กันนี้หลายโครงการ รวมทั้งโครงการสร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่ (Build Back Better World - B3W) ในปี 2564 ซึ่งยกให้จีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ นอกจากนั้น ในปี 2565 ยังมีการปัดฝุ่นโครงการความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนระดับโลกระยะเวลา 5 ปี แต่โครงการทั้งหมดนี้ยังไม่ปรากฏผลเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งนายโจเซฟ เกรกอรี มาโฮนีย์ อาจารย์ด้านการเมืองประจำมหาวิทยาลัยอีสต์ ไชน่า นอร์มัล ในเซี่ยงไฮ้ มองว่า บ่งชี้ถึงลักษณะของโครงการในเชิงอุดมการณ์มากกว่าการปฏิบัติจริง นอกจากนั้นใครๆ ก็มองออกว่า การผุดโครงการใหม่ในซัมมิตจี20 สำหรับไบเดนแล้วก็เพื่อหวังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 และการสกัดอิทธิพลของจีนในตะวันออกกลางนั่นเอง
การประกาศจัดตั้งไอเอ็มอีซีมีขึ้นก่อนจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมบีอาร์ไอที่กรุงปักกิ่งเพียงหนึ่งเดือน ซึ่งจะมี 90 ชาติเข้าร่วม
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เปิดตัวโครงการบีอาร์ไอในปี 2556 โดยจีนทุ่มเงินหลายพันล้านในโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน มีกว่า 150 ชาติและองค์การระหว่างประเทศมากมายเข้าร่วม โดยผู้สนับสนุนไอเอ็มอีซีบางราย เช่น ซาอุฯ และยูเออีก็เป็นส่วนหนึ่งในบีอาร์ไอแล้ว ส่วนผู้สนับสนุนอื่นๆ มองบีอาร์ไอว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ “การทูตกับดักหนี้” กล่าวคือ การรักษาอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์โดยการให้ประเทศที่ยากจนไม่สามารถชำระเงินกู้ที่ยืมจากจีนเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ดูเหมือนจีนไม่รู้สึกว่าถูกไอเอ็มอีซีคุกคาม โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงแสดงความยินดีต่อโครงการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจแห่งใหม่
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติของอินเดียแสดงความเป็นห่วงอนาคตของไอเอ็มอีซี เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว บีอาร์ไอกระเป๋าเงินหนักกว่าและมาก่อนถึง 10 ปี อีกทั้งเมื่อพูดในแง่การก่อสร้างโครงสร้างฐาน จีนรู้ดีว่าจีนคือหมายเลขหนึ่งในโลก
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ / The Christian Science Monitor