จีนเปิดตัวโครงการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร ในเมืองรื่อคาเจ๋อ เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งจะสนับสนุนภารกิจสำรวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึกของประเทศในอนาคต เมื่อวันศุกร์ (15 ก.ย.) ที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวพัฒนาโดยหอดูดาวแห่งเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และจะถูกรวมเข้าเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล (VLBI) ในจีน ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยหอดูดาว 4 แห่ง ตั้งอยู่ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ อุรุมชี และคุนหมิง
เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลเป็นเทคนิคที่ใช้วัดความแตกต่างของเวลาระหว่างการรับสัญญาณของกลุ่มเสาอากาศบนพื้นโลก ซึ่งจะจำลองกล้องโทรทรรศน์เสมือนจริงที่มีขนาดเท่าระยะห่างสูงสุดระหว่างกล้องโทรทรรศน์
เสิ่นจื้อเฉียง ผู้อำนวยการหอดูดาวกล่าวว่า การรวมกล้องโทรทรรศน์ในรื่อคาเจ๋อ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อีกแห่งที่จะสร้างทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน จะเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการสังเกตการณ์ของเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกล้องโทรทรรศน์ตัวใหม่จะสามารถแสดงการวัดที่แม่นยำสำหรับยานอวกาศ 2 ลำในครั้งเดียว
กล้องโทรทรรศน์ที่กำลังก่อสร้างนี้เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ความแม่นยำสูงที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทั้งหมด โดยสถานีรื่อคาเจ๋อ ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 4,100 เมตร มีสภาพแวดล้อมการสังเกตการณ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับกล้องโทรทรรศน์
เสิ่นคาดการณ์ว่ากล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกแก่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นในด้านหลุมดำมวลยวดยิ่ง และพลวัตของกาแล็กซีทางช้างเผือก
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว