หลังจากเคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่ “เจ-20” ของจีนไปเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด พล.อ.อ.เคนเนท เอส วิลส์บาก ผู้บัญชาการกองกำลังทางอากาศภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ ยังไม่รู้สึกพรั่นพรึงใดๆ กับการเติบโตของฝูงบินล่องหนเลือดมังกรนี้
ในการประชุมสัมมนาของสมาคมกองทัพอากาศและอวกาศประจำปี 2023 ของสหรัฐฯ เขาระบุว่า ถ้าลองเปรียบเทียบกันดูจะเห็นว่า ณ ขณะนี้ เจ-20 ยังไม่จัดเป็นเครื่องบินที่มีอำนาจเหนือชั้นกว่าเครื่องบินขับไล่ล่องหนอย่างเอฟ-22 แรปเตอร์ (F-22 Raptors) และเอฟ-35 ไลต์นิ่ง (F-35 Lightnings) ของสหรัฐฯ อีกทั้งเทคโนโลยีที่สร้างเจ-20 ก็ขโมยมาจากสหรัฐฯ เสียเป็นส่วนใหญ่
นายพลวิลส์บาก เชื่อมั่นหนักแน่นในขีดความสามารถของเครื่องบินสหรัฐฯ ว่า เมื่อรวมกับของชาติพันธมิตรและชาติหุ้นส่วนจะสามารถต่อกรกับภัยคุกคามจากเครื่องบินล่องหนนี้ได้อย่างแน่นอน
นอกจากนั้น เขายังเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ มีความได้เปรียบกว่าจากการฝึกผสมขั้นสูงเช่น ทาลิสแมน เซเบอร์ (Talisman Sabre) นอร์ทเทิร์นเอดจ์ (Northern Edge) และวาเลียนชีลด์ (Valiant Shield) ที่ผ่านมาร่วมกับชาติพันธมิตรและหุ้นส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกาหลีใต้ นี่จะทำให้การบินทะลุทะลวงเข้ามาของจีนเป็นงานหิน เขายกตัวอย่างการฝึกผสมพิตช์แบล็ก (Pitch Black) เมื่อปีที่แล้ว มีเกือบ 20 ชาติเข้าร่วมการฝึกในตอนกลางคืน เป็นการฝึกที่มีความซับซ้อนสุดยอด
สำหรับกรณีไต้หวัน ซึ่งนายทหารหลายคนของสหรัฐฯ คาดว่า การบุกข้ามช่องแคบเพื่อผนวกไต้หวันของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) อาจทำได้ภายในปี 2570 หรือเร็วกว่านั้น นายพลวิลส์บากเห็นว่า ไต้หวันต้องเตรียมรับมือไม่เฉพาะแค่ เจ-20 ซึ่งยังไม่ใช่สิ่งที่ควรวิตกจนเกินไป แต่ต้องระวังเครื่องบินทิ้งระเบิดเอช-6 ตลอดจนขีปนาวุธประดามีจากพญามังกรอีกด้วย
ทั้งนี้ เจ-20 เป็นเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นเดียวที่ประจำการในพีแอลเอ โดยขึ้นบินครั้งแรกในปี 2554 อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องบินรุ่นนี้มีจำนวนเท่าใด ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่คาดกันว่า น่าจะมีอยู่ในภูมิภาคราว 160-200 ลำ
การประเมินเขี้ยวเล็บเจ-20 ของนายพลวิลส์บาก ครั้งนี้สอดคล้องกับที่เขาเคยประเมินในการประชุมสัมมนาเวทีดียวกันเมื่อปี 2565 โดยครั้งนั้นเขาระบุว่า เจ-20 ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลมากจนนอนไม่หลับ แต่ “แน่นอนว่า เรากำลังจับตาพวกเขา (จีน) อย่างใกล้ชิดและคอยดูว่าพวกเขาจะดำเนินการกับเจ-20 เหล่านั้นอย่างไร” ซึ่ง พล.อ.อ ชาร์ลส์ คิว. บราวน์ เสนาธิการกองทัพอากาศ ที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนั้นเห็นด้วยทุกประการ
ที่มา : นิตยสารออนไลน์ The War Zone