xs
xsm
sm
md
lg

พบจารชนจีนล้วงตับรัฐสภา แต่รัฐบาลเมืองผู้ดีปัดเรียกพญามังกรภัยคุกคาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางเคมี บาเดนอช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษ - ภาพ : รอยเตอร์
รัฐบาลอังกฤษเมินสมาชิกสายเหยี่ยวในพรรคอนุรักษนิยม ที่เรียกร้องให้ประกาศตราหน้าจีนว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ

สายเหยี่ยว ซึ่งรวมทั้งนางลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาเรียกร้อง หลังจากเกิดเรื่องอังกฤษจับกุมนักวิจัยประจำรัฐสภาจารกรรมความลับให้จีน ซึ่งเพิ่งมีการเปิดเผยในช่วงที่รัฐบาลอังกฤษกำลังพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับจีน

นางเคมี บาเดนอช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศให้สัมภาษณ์สกายนิวส์ว่า จีนเป็นชาติที่มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของเศรษฐกิจโลก และอังกฤษทำธุรกิจด้วยมากมาย จึงควรหลีกเลี่ยงคำว่าศัตรู หรือใช้ภาษาที่อาจทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น แต่อาจเรียกจีนว่า เป็นความท้าทายจึงจะเหมาะสมกว่า

ด้านนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ซึ่งเคยมีจุดยืนแข็งกร้าวกับจีน กล่าวแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างการแถลงเรื่องการประชุมสุดยอดจี-20 ที่อินเดียต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ว่า เหตุจารกรรมรัฐสภาเป็นสิ่งน่าตกใจอย่างยิ่ง แต่เขาเชื่อว่า การเจรจาอย่างตรงไปตรงมากับจีนจะเป็นการบอกข้อวิตกกังวลให้อีกฝ่ายได้ยิน ซึ่งจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์และค่านิยมของอังกฤษ

นายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ของอังกฤษ บอกกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีนกลางวงประชุมผู้นำชาติกลุ่มจี20 ที่อินเดียว่าเขากังวลอย่างยิ่งที่จีนแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษ - ภาพ : เอเอฟพี
ขณะที่นายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีอีกหลายคนก็สนับสนุนแนวทางการมีส่วนร่วมกับจีน

ทั้งนี้ เกิดความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่ายภายในพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ในการดำเนินนโยบายกับจีนและขอบเขตการลงทุนของบริษัทจีนในอังกฤษ โดยปัจจุบันรัฐบาลอังกฤษได้กีดกันการลงทุนของจีนในภาคธุรกิจสำคัญ เช่น โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ และโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 5 จี แต่สายเหยี่ยวต้องการมากกว่านั้น โดยให้ตีตราจีนเป็นภัยคุกคาม แทน “ความท้าทาย” ซึ่งเป็นคำที่นายกรัฐมนตรีซูแน็กชอบมากกว่า


หากจีนถูกอังกฤษขึ้นบัญชีเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นทางการ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของอังกฤษกำหนดให้ผู้ทำงานโดยตรงกับรัฐบาลจีน หรือกับบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องต้องจดทะเบียน และเปิดเผยการดำเนินกิจกรรมกับทางการอังกฤษ มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงได้รับโทษจำคุก


นายเจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ หารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อเดือน ส.ค.2566 - เอเอฟพี
ตำรวจอังกฤษยืนยันเมื่อสุดสัปดาห์ว่า มีการจับกุมชาย 2 คน ซึ่งอยู่ในช่วงวัย 20 ปีและ 30 ปีภายใต้ พ.ร.บ.ความลับทางราชการเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาจริง แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหา 

ซันเดย์ไทมส์รายงานว่า ผู้ต้องสงสัยหนึ่งในนี้เป็นนักวิจัยของรัฐสภา ซึ่งทำงานค้นคว้าเกี่ยวกับประเทศจีนให้ ส.ส. อาวุโสหลายคนในพรรคอนุรักษนิยม และถือบัตรผ่านซึ่งอนุญาตให้เข้าถึงอาคารรัฐสภาได้เต็มที่

ขณะที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนโต้การกล่าวหาของอังกฤษว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสีอย่างประสงค์ร้าย

กลางวงประชุมผู้นำชาติกลุ่มจี20 ที่อินเดียเมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีซูแน็กได้กล่าวต่อหน้านายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนว่า เขารู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่งที่จีนแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้


การกระทำของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งเสมือนเป็นการตำหนินายกรัฐมนตรีแดนมังกรต่อหน้าธารกำนัลนี้เกิดขึ้น หลังจากนายเจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเพิ่งไปเยือนปักกิ่งได้ไม่กี่วัน เป็นการเยือนจีนของนักการเมืองระดับสูงสุดของอังกฤษครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ที่มา : เอพี / เดอะเทเลกราฟ



กำลังโหลดความคิดเห็น