โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังถึงประเด็น “การท่องเที่ยว” ที่เป็นประเด็นร้อนและมีเรื่องให้ถกกันอยู่เสมอในไทย เพราะไทยเรามีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว จะพึ่งพาแค่ “ไทยเที่ยวไทย” คงไม่เพียงพอ รัฐบาลไทยที่ผ่านมาจึงมีความพยายามดึงนักท่องเที่ยวจากต่างชาติให้มาเที่ยวไทยให้ได้มากที่สุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
จีนเปิดประเทศหลังโควิด-19 อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะครบรอบหนึ่งปี ความหวังด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในประเทศจีนเองและจากต่างประเทศมีมากมาย หลายคนหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนต่างประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนก็หวังว่าจะมีการร่วมมือกับจีนมากขึ้น จะมีนักลงทุนจากจีนหอบเงินเข้ามามากขึ้น จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น โดยหวังว่าจีนจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศตนเอง เช่นเดียวกับไทยเมื่อตอนจีนเปิดประเทศใหม่ๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างตื่นเต้นและตั้งตารอการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ที่ในขณะนั้นประเมินกันว่า “คนจีนจะกลับมาท่องเที่ยวไทยแบบถล่มทลาย” เพราะความอัดอั้นจากการที่จีนปิดประเทศไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศอย่างอิสระนานกว่า 3 ปี จากนโยบายหลักของรัฐและการนำเสนอข่าวของสื่อไทยชี้ให้เห็นว่า “ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก”
หากเรามาดูสถานการณ์การเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ตาม “รายงานบิ๊กดาต้าการท่องเที่ยวขาออกของจีนในครึ่งปีแรก 2023” โดยกระทรวงการท่องเที่ยวจีน ระบุว่า “การเดินทางออกไปท่องเที่ยวของประชาชนจีนค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามมาตรการผ่อนปรนการเดินทางและสายการบินระหว่างประเทศต่างๆ เริ่มฟื้นฟูเส้นทางการบิน ครึ่งปีแรกประชาชนจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางออกไปต่างประเทศท่องเที่ยวทั้งสิ้น 40.37 ล้านคน (ปี 2019 ทั้งปีคนจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศ 160 ล้านคน เฉลี่ยครึ่งปีมีจำนวนประมาณ 80 ล้านคน) และหากดูจากสถิติเที่ยวบินระหว่างประเทศในครึ่งปีแรกของปีนี้พบว่ามีเพียง 23% ของเที่ยวบินที่กลับมาบินเทียบกับปี 2019 แสดงว่าการฟื้นตัวของเที่ยวบินระหว่างประเทศในจีนแผ่นดินใหญ่ยังกลับมาไม่ถึงครึ่ง
ส่วนจุดหมายการเดินทางไปท่องเที่ยวมีลักษณะเด่นคือ “จากใกล้ไปไกล” เช่น คนจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางไปเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 83% เดินทางไปมาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน 79% การเดินทางไปเที่ยวฝั่งยุโรปและโซนอเมริกายังมีอยู่ประปราย สรุปก็คือการเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศของคนจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงนี้จะกระจุกตัวอยู่ในแถบเอเชีย เดินทางใกล้ๆ จากข้อมูลเพิ่มเติมของสถาบันการท่องเที่ยวจีน ประเมินว่าในปีนี้ทั้งปีคนจีนแผ่นดินใหญ่จะเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศ อาจจะแตะ 90 ล้านคน ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงโควิด-19 แต่ยังไม่ถึงระดับก่อนโควิด-19ในปี 2019
จากข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกของสหประชาชาติ ระบุว่าในปี 2019 การบริโภคของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในจำนวนนี้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 1/4 ต่อมูลค่าการบริโภคทั้งหมด ดังนั้นนักท่องเที่ยวจีนมีส่วนสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกอย่างมาก
ในประเด็นการท่องเที่ยวของคนจีนในไทยลดน้อยลง เกี่ยวเนื่องกับตั้งแต่เดือน มี.ค.ในปีนี้เป็นต้นมามีข่าวนักท่องเที่ยวจีนถูกทำร้าย/หลอกลวง/ฆ่า อยู่บ่อยๆ ทำให้แพลตฟอร์มข่าวและโซเชียลต่างๆ ในจีนเริ่มมีการตั้งประเด็นคุยกันถึงการท่องเที่ยวในไทยและย่านอาเซียนว่า “ควรไปหรือไม่ไปเที่ยวที่ไทย/อาเซียน” โดยส่วนใหญ่คนที่โพสต์กระทู้ถามจะเป็นกลุ่มที่กำลังตัดสินใจหรือวางแผนไปเที่ยว บางคนก็จองที่พักและซื้อตั๋วเครื่องบินเอาไว้แล้ว ประเด็นความกังวลที่คนส่วนมากตั้งคำถามกันเยอะคือ “ได้ยินมาว่าไปไทยและจะถูกอุ้มเป็นจริงหรือไม่” “ไปเที่ยวไทยจะเจอพวกค้ามนุษย์หรือไม่” “เหตุการณ์ที่บาหลีนักท่องเที่ยวจีนถูกฆ่า สิ่งที่ตำรวจอินโดฯรายงานเป็นจริงตามนั้นหรือไม่” ในด้านของคำตอบก็เสียงแตก มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนให้ไปเที่ยวและบอกว่าปลอดภัย โดยแชร์ประสบการณ์ของตนเองว่าเพิ่งเที่ยวกลับมาจากไทย เป็นต้น และมีกลุ่มที่ไม่สนับสนุนให้ออกไปเที่ยวและบอกว่าเที่ยวในประเทศดีที่สุดปลอดภัยสุด ออกไปเที่ยวในอาเซียนไม่คุ้มที่จะเสี่ยง เป็นต้น
เพราะประเด็น “ความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในไทย/อาเซียน” ในโซเชียลมีเดียจีนร้อนแรง ทำให้คนจีนหลายคนเป็นกังวลจริงๆกับการตัดสินใจเดินทางออกไปท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น นางต่งได้บอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองว่า “ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาดได้ทำพาสปอร์ตให้ลูกทั้ง 2 คน และหลังจากที่เปิดประเทศผ่อนคลายการเดินทาง ก็วางแผนกับสามีว่าจะพาลูก 2 คนไปเที่ยวไทยและมาเลเซีย แต่ว่าช่วงนี้มีข่าวอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยในอาเซียน ทำให้กังวลมากเรื่องความปลอดภัย หากว่าไปเที่ยวกันแค่ 2 คนกับสามีคงไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่จะพาลูกไปเที่ยวด้วยเลยคิดหนัก”
ชาวจีนอีกรายแชร์ประสบการณ์ของตัวเองว่า “ก่อนโควิดเดินทางไปเที่ยวอาเซียนบ่อยครั้ง แต่เพราะข่าวด้านลบมีเยอะ ตอนนี้ไม่คิดที่จะไปเที่ยวไทยและอินโดฯ แล้ว ก่อนหน้านี้ไปมาบ่อยแล้วและที่สวยๆ ที่อื่นก็มีมากมาย ไม่คุ้มค่ากับการที่จะเสี่ยง”
นายจ้าว ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัท Zhejiang Feiyang International Tourism Group Co., Ltd. ยังได้ยืนยันสถานการณ์ความกังวลนี้ของนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ ตอนจีนเปิดประเทศเมื่อต้นปีนี้ ไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ไทยตกเป็นประเด็นพูดถึงบ่อยครั้ง ทำให้ความกระตือรือร้นของคนจีนที่อยากไปเที่ยวไทยลดลงอย่างมาก
นายจ้าวสรุปสถานการณ์ในตอนนี้ว่า “แต่เดิมการท่องเที่ยวในอาเซียนโดยรวมอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จำนวนการเข้ามาถามถึงการเดินทางไปไทยแบบกรุ๊ปทัวร์ ความต้องการซื้อตั๋วเครื่องบินลดลงอย่างรวดเร็ว การเดินทางไปเที่ยวของบริษัทต่างๆ แบบหมู่คณะที่มีจุดหมายปลายทางที่ไทยก็ถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไปก่อน”
ด้านประเทศไทยมีการรายงานข่าวอยู่บ่อยครั้งว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ในเชียงใหม่นักท่องเที่ยวหายไปกว่าร้อยละ 70 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็เผยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยช่วงครึ่งปีแรกว่ามีจำนวนทั้งหมด 12.8 ล้านคน โดยชาวจีนมาเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 2 รองมาเลเซีย เท่ากับ 1.4 ล้านคน ยังไม่ถึง 1/3 ของเป้าที่รัฐบาลไทยตั้งไว้ แล้วทีนี้นักท่องเที่ยวจีนหายไปไหนหมด? ผู้เขียนสรุปเป็นประเด็นสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ความปลอดภัยของการเดินทางมาท่องเที่ยว เป็นผลกระทบจากแก๊งอาชญากรรมที่ใช้ไทยเป็นฐานค้ามนุษย์ส่งต่อไปประเทศเพื่อนบ้าน ไวรัล “ไปไทยถูกตัดไต” ยังคงพูดถึงกันจนปัจจุบัน
- เที่ยวบินระหว่างประเทศโดยรวมของจีนยังไม่กลับมา 100 เปอร์เซ็นต์ และเที่ยวบินระหว่างจีน-ไทยถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นมากแต่ฟื้นตัวมาเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ราคาตั๋วเครื่องบินยังถือว่าสูงอยู่
- การขอวีซ่าของคนจีนไปเที่ยวต่างประเทศใช้เวลานาน ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เปลี่ยนระบบการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว หลายๆ ประเทศ คนจีนต้องรอวีซ่านาน เช่น การขอวีซ่าเข้าอเมริกามีข่าวว่าตอนนี้ต้องลงทะเบียนต่อแถวสัมภาษณ์กันจนถึงเดือน ธ.ค. แล้ว และการเดินทางเข้าไทยมีคนจีนจำนวนหนึ่งโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าถูกเจ้าหน้าที่สนามบินที่ไทยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ ทำให้คนจีนหลายคนขยาดหรือไม่อยากที่จะเดินทางมาเที่ยวไทย (ในประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ทราบข้อเท็จจริงแต่ในโซเชียลมีเดียจีนมีการพูดคุยเรื่องนี้กันหนาหู)
- ต้นทุนการท่องเที่ยวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว “เที่ยวไทยแพง” กลายเป็นอีกประเด็นร้อนในโซเชียลจีน ชาวจีนหลายคนที่ไปเที่ยวไทยหลังช่วงโควิด-19 กลับมาแชร์ “ประสบการณ์เที่ยวไทยราคาแพง” อาหารแพง ที่พักแพง หลายคนบอกว่าไม่คุ้มค่า หากว่ามีเงินในกระเป๋ามากเปลี่ยนไปเที่ยวที่อื่นที่สวยกว่า ปลอดภัยกว่าและคุ้มค่ากว่านี้จะดีกว่า ชาวเน็ตจีนบางคนถึงกับโพสต์ในโซเชียลเหน็บการท่องเที่ยวไทยว่า “ไทยไม่ได้รับนักท่องเที่ยวจีนมา 3 ปี เปิดทีเดียวกะจะคืนทุน 3 ปีที่ผ่านมา” เป็นต้น
- คนจีนหันมาใช้จ่ายอย่างประหยัดขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศถดถอย ทำให้ความต้องการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศลดลง เน้นเที่ยวในประเทศ + ปลอดภัย
นักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะที่ผ่านมามีการเดินทางที่มากใช้จ่ายเยอะ แต่เราอาจต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าพฤติกรรมและแนวคิดการท่องเที่ยวของคนจีนเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 เช่น เน้นการท่องเที่ยวแบบประหยัดมากขึ้น อาจจะไม่ชอปแหลกอย่างที่ผ่านมา เน้นเที่ยวเองมากขึ้น และกระแสโซเชียลในจีนมีอิทธิพลอย่างมากกับการตัดสินใจออกไปท่องเที่ยวของคนจีน อีกประเด็นที่สำคัญคือ รัฐบาลจีนพยายามชักชวนและกระตุ้นให้คนจีนเที่ยวกันในประเทศ จับจ่ายกันในประเทศแบบ “จีนเที่ยวจีน”!
สุดท้ายแล้ว ข่าวเรื่องประเด็นที่ไทยจะให้ฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเริ่มหลังวันที่ 1 ต.ค.ซึ่งตรงกับช่วงหยุดยาววันชาติจีน ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่หากว่าไทยได้เปิดฟรีวีซ่าจริงอาจจะกระตุ้นคนจีนจำนวนหนึ่งเดินทางไปเที่ยวไทย แต่ผู้เขียนคิดว่างานที่รัฐบาลไทยน่าจะให้ความสำคัญมากกว่าคือการทลายแก๊งอาชญากรรมจีนที่แผ่ขยายกิจการกันเป็นดอกเห็ดหน้าฝนในประเทศไทย เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศเสริมความเชื่อมั่น น่าจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่มั่นคงกว่า