xs
xsm
sm
md
lg

“รักษาคนเก่งไว้ในองค์กร ไม่ใช่รักษาเงินดอลลาร์สหรัฐ” ปณิธานผู้ก่อตั้งหัวเว่ยท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีมะกัน-พญามังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายเหริน เจิ้งเฟ่ย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์ ให้สัมภาษณ์ในเมืองไท่หยวน มณฑลซานซีทางภาคเหนือ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 - ภาพ : ซินหัว
“เหริน เจิ้งเฟ่ย” ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีน ประกาศปณิธานทระนง ขณะตกอยู่ในอุ้งมือคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางบริษัทได้นำมาเผยแพร่ต่อพนักงาน

ในช่วงนี้บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง โดยหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้สร้างความพิศวงงงงวยด้วยการออกวางจำหน่าย Mate 60 Pro สมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม สามารถโทร.ผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดว่าหัวเว่ยจะทำได้ เนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำห้ามบริษัทอเมริกันขายเครื่องมือสำหรับผลิตชิปขั้นสูง ซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิตสมาร์ทโฟนรุ่น 5G มาตั้งแต่ปี 2562

ต่อมาหัวเว่ยยังได้นำสุนทรพจน์ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ของท่านผู้ก่อตั้งบริษัทมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ของพนักงานบริษัทเมื่อวันจันทร์ (4 ก.ย.) อีกด้วย เสมือนเป็นการปลุกขวัญกำลังใจและบ่งชี้จุดยืนของหัวเว่ยในท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน

นอกจากให้ความสำคัญกับการมุ่งมั่นพัฒนามันสมองภายในองค์กรแล้ว ในสุนทรพจน์ของนายเหริน ยังเรียกร้องให้หัวเว่ยยืนหยัดในการเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีเฉพาะบางด้านเท่านั้น มิใช่ทั้งหมด โดยระบุว่า แม้ขอบเขตผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยอาจค่อนข้างแคบ แต่ขอบเขตการวิจัยของหัวเว่ยนั้นขยายกว้างขึ้นได้

นายเหริน กล่าวว่า การมีใจรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่แหละคือแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยมสุด

“ผมคิดว่า รางวัลด้านวัตถุหาใช่สิ่งสำคัญไม่” เขาระบุ

“สิ่งแรกก็คือ (พนักงาน) ต้องค้นพบก่อนว่า ตนเองมีใจรักในงานตำแหน่งใด … หากได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองสนใจก็จะไม่มีคำว่าเสียใจ”

นายเหริน ยังกล่าวอีกว่า ไม่มีใครเก่งธุรกิจได้ทุกด้าน การทำได้เช่นนั้นต้องอาศัยเวลา

ปัจจุบัน นายเหริน วัย 78 ปี ยังคงเป็นผู้บริหารสูงสุดและผู้นำด้านจิตวิญญาณของบริษัทหัวเว่ย ซึ่งตั้งอยู่ที่นครเซินเจิ้น แต่เขามอบหมายการบริหารงานรายวันให้คณะกรรมการผู้บริหาร ส่วนซาบรินาเมิ่งหวั่นโจว บุตรสาวนั่งเป็นประธานบริษัท ซึ่งเป็นตำแหน่งหมุนเวียนระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ย.

ผู้คนเดินผ่านหน้าร้านหัวเว่ย ซึ่งโฆษณาสมาร์ทโฟน Mate 60 Pro ภายในห้างสรรพสินค้าในกรุงปักกิ่งของจีน เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566 - ภาพ : รอยเตอร์
บริษัทหัวเว่ยถือเป็นสัญลักษณ์ของความเก่งกาจช่ำชองด้านเทคโนโลยีของแดนมังกร และยังมีบทบาทสำคัญในการหาทางพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีของจีนตามนโยบายรัฐบาลประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

การเปิดตัวสมาร์ทโฟน Mate 60 Pro มีขึ้น หลังจากหัวเว่ยวางจำหน่ายสมาร์ทโฟน 5G ล็อตสุดท้ายเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะหมดชิปสำหรับผลิตในสต๊อก อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยยังปิดปากเงียบเกี่ยวกับรายละเอียดของชิปรุ่นคิริน (Kirin chip) ตัวใหม่ ซึ่งเป็นขุมพลังขับเคลื่อน Mate 60 Pro และไม่ระบุว่า มีระบบ 5G หรือไม่ แต่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้มอบหมายให้เทคอินไซต์ บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมชิป ถอดรื้อชิปคิรินตัวนี้ และพบว่า มีความเร็ว wireless พอๆ กับสมาร์ทโฟน 5G ยี่ห้ออื่น และหน่วยประมวลผลของโทรศัพท์ใช้เทคโนโลยีชิป 7 นาโนเมตร ซึ่งเป็นชิปรุ่นก้าวหน้าที่สุดของบริษัท SMIC ของจีน ความสำเร็จของหัวเว่ยครั้งนี้ก่อกระแสความรู้สึกภาคภูมิใจในประเทศจีน และบางคนถือว่าเป็นชัยชนะเหนือการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ หลังจากหัวเว่ยถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำได้ไม่กี่เดือน นายเหริน ได้ริเริ่มโครงการชื่อว่า ท็อป มายด์ส (Top Minds) ในปี 2562 ซึ่งต่อมามีการขนานนามว่า โครงการเยาวชนอัจฉริยะ โดยให้ความสำคัญกับผู้สมัครเข้าทำงานในบริษัท ซึ่งมีผลงานวิจัยที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนและสร้างความประทับใจ


จากเว็บไซต์ของหัวเว่ย ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 195,000 คนในทั่วโลก ซึ่งร้อยละ 54.8 เป็นพนักงานแผนกการวิจัยและพัฒนา (R&D)


สำหรับสุนทรพจน์ฉบับนี้ไม่มีคำใดที่ท่านผู้ก่อตั้งบริษัทเอ่ยถึงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ


ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น