xs
xsm
sm
md
lg

จีนพัฒนาแอปสิ่งแวดล้อม ช่วยพลเมืองทันสถานการณ์ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพถ่ายทางอากาศเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2566 โดยเตาปฏิกรณ์เสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554 - ภาพ : VCG
เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2566 แอปพลิเคชัน “บลู แมป” (Blue Map App) ของจีน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับรังสีนิวเคลียร์ (nuclear radiation) ในพื้นที่ต่างๆ ว่า มีความเข้มข้นในระดับใด หวังช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบ หลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิของญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ ที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อกว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อน

แอป “บลู แมป” พัฒนาโดยสถาบันกิจการสาธารณะและสิ่งแวดล้อมในกรุงปักกิ่ง บริการหลักๆ ของแอปในขณะนี้คือจัดทำข้อมูลอัตราปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose rate คือปริมาณพลังงานที่วัตถุตัวกลางดูดกลืนไว้เมื่อได้รับรังสี) ในสถานที่ต่างๆ และความคืบหน้าของการทิ้งน้ำเสียปนเปื้อนดังกล่าว โดยรวบรวมข้อมูลจากแพลตฟอร์มของชาติและภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีการพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการ เช่น ข้อมูลของเมืองต่างๆ บนจีนแผ่นดินใหญ่นั้นได้รวบรวมมาจากระบบประเมินข้อมูลสิ่งแวดล้อมจากการแผ่รังสีแห่งชาติ (National Radiation Environmental Data Evaluation System) หรือข้อมูลของเมืองต่างๆ ในจังหวัดฟุกุชิมะ ของญี่ปุ่นก็รวบรวมมาจากแผนที่วัดกัมมันตภาพรังสีของฟุกุชิมะ ซึ่งอยู่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลจังหวัดแห่งนี้

เมื่อเปิดเข้าไปดูในแอปจะเห็นเป็นภาพแผนที่แสดงระดับอัตราปริมาณรังสีดูดกลืนด้วยสีแดงและน้ำเงินความเข้มความอ่อนของสีแตกต่างกันไป โดยมีเพียงเขตยามาดะ และมินามิได ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิเท่านั้น ที่ใช้สีแดงเข้ม นอกจากนั้น ในแอปยังใช้แผนภูมิเส้นเพื่อแสดงความแตกต่างของอัตราปริมาณรังสีดูดกลืนในช่วงก่อนและหลังการเกิดมหันตภัยกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้า เช่น ในเขตยามาดะก่อนเกิดมหันตภัยวัดค่าได้เกือบเป็นศูนย์ และหลังมหันตภัยวัดค่าได้เกือบ 4,000 nSv/h (หน่วยนาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา

ข้อมูลรังสีนิวเคลียร์ของเมืองส่วนใหญ่ในเอเชียและยุโรปสามารถเข้าค้นหาในแอป “บลู แมป” ได้แล้วเช่นกัน

เพื่อรับมือกับการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค. กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน และสำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แห่งชาติ ประกาศเพิ่มการตรวจติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด ขณะที่หลายเมืองแถบชายฝั่ง เช่น เวินโจวในมณฑลเจ้อเจียงทางภาคตะวันออก เมืองกว่างโจวในมณฑลกว่างตง และเมืองซันย่าในมณฑลไห่หนันทางภาคใต้ ได้มีการเฝ้าสังเกตสิ่งแวดล้อมทางทะเลและอาหารทะเลโดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วนแล้ว

ด้านนายหม่า จวิ้น ผู้อำนวยการสถาบันซึ่งพัฒนาแอปบลู แมปยังเรียกร้องบริษัทเทปโกเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้และรัฐบาลญี่ปุ่นยอมให้ประชาคมโลกเข้าตรวจสอบกระบวนการทิ้งน้ำเสีย 

ที่มา : โกลบอลไทมส์


กำลังโหลดความคิดเห็น