คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคแรกรอดพ้นจากวิกฤตครั้งใหญ่ซึ่งทำให้พวกเขาเกือบต้องเผชิญการสูญพันธุ์เมื่อประมาณ 900,000 ปีก่อน
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ (Science) เมื่อวันศุกร์ (1 ก.ย.) รายงานว่าประชากรบรรพบุรุษของมนุษย์สูญพันธุ์ไปในช่วงแรกของเหตุการณ์ “ปรากฏการณ์คอขวด” (bottleneck) ประมาณร้อยละ 98.7 และเหลือประชากรสืบพันธุ์ได้เพียง 1,280 คนเท่านั้นซึ่งมากพอจะรักษาประชากรไว้ได้ราว 117,000 ปี
คณะนักวิทยาศาสตร์จากจีน อิตาลี และสหรัฐฯ ได้พัฒนาวิธีการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือจีโนม (genome) แบบใหม่ที่มีชื่อว่าฟิตโคล (FitCoal) ซึ่งสามารถอนุมานขนาดประชากรในอดีต และใช้แบบจำลองวิเคราะห์ลำดับจีโนมของประชากร 3,154 คน จากประชากรเชื้อสายแอฟริกันและที่ไม่ใช่เชื้อสายแอฟริกัน
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคแรกต้องเผชิญปรากฏการณ์คอขวดอันยืดเยื้อและรุนแรง ซึ่งอาจลดความหลากหลายทางพันธุกรรมของมนุษย์ยุคใหม่ลงเกือบร้อยละ 66 และปรากฏการณ์คอขวดยังเชื่อมโยงกับการรวมร่างของโครโมโซมต้นกำเนิด 2 แท่ง ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่าโครโมโซม 2 ชุด (chromosome 2) ในประชากรมนุษย์ที่หลงเหลืออยู่
การลดลงของจำนวนประชากรเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนผันเข้าสู่ยุคน้ำแข็งระยะยาว อุณหภูมิพื้นผิวทะเลลดลง และแนวโน้มเกิดภาวะแห้งแล้งเป็นเวลานานในทวีปแอฟริกาและภูมิภาคยูเรเซีย โดยการศึกษานี้ช่วยอธิบายถึงการสูญเสียหลักฐานซากฟอสซิลของทวีปแอฟริกาและภูมิภาคยูเรเชียในยุคหินช่วงแรก (Early Stone Age)
นอกจากนั้น การต่อสู้ดิ้นรนของบรรพบุรุษช่วงระหว่าง 930,000-813,000 ปีก่อน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บรรดานักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่าบรรพบุรุษร่วมกลุ่มสุดท้ายของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ยุคใหม่ และเครือญาติของโฮโมเซเปียนส์ ได้แก่ มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) และมนุษย์เดนิโซวาน (Denisovans) ยังมีชีวิตอยู่
พานอี้ซวน ผู้เขียนอาวุโสของรายงานการศึกษาฉบับดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยครูหัวตง (East China Normal University) เผยว่าการค้นพบครั้งใหม่นี้เป็นการเปิดมิติใหม่ในด้านวิวัฒนาการของมนุษย์เพราะมันนำไปสู่การตั้งคำถามมากมาย เช่น สถานที่แห่งหนใดที่มนุษย์กลุ่มนี้เคยอาศัยอยู่ พวกเขาเอาชนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเลวร้ายได้อย่างไร ตลอดจนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) ช่วงปรากฏการณ์คอขวดได้เร่งวิวัฒนาการของสมองมนุษย์หรือไม่
นอกจากนั้น คณะนักวิจัยเสนอว่าการรู้จักใช้ประโยชน์จากไฟและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น อาจมีส่วนส่งผลให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา
ด้านหลี่ไห่เผิง จากสถาบันโภชนาการและสุขภาพเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และผู้เขียนอาวุโสของรายงานฉบับนี้ กล่าวว่าพวกเขาวางแผนวาดภาพวิวัฒนาการของมนุษย์ให้สมบูรณ์มากขึ้นในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อไขความลึกลับเกี่ยวกับบรรพบุรุษและวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคแรก พร้อมทิ้งท้ายว่าการค้นพบนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
ที่มา/ภาพสำนักข่าวซินหัว