คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนเปิดเผยว่าภารกิจขุดเจาะและขุดคว้านทางวิทยาศาสตร์บริเวณไหล่ทะเล (shelf) ทางตอนเหนือของทะเลจีนใต้ สามารถทำความลึกใต้พื้นทะเลถึง 302.07 เมตรเป็นครั้งแรก
คณะนักวิจัยประกาศความคืบหน้าข้างต้นหลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางบนเรือไห่หยาง ตี้จื้อ-10 (Haiyang Dizhi-10) หรือโอเชียน จีโอโลจี 10 (Ocean Geology 10) ซึ่งเป็นเรือสำรวจทางธรณีวิทยาทางทะเลที่สร้างขึ้นภายในจีน เมื่อวันศุกร์ (25 ส.ค.) ที่ผ่านมา
จางจินเผิง วิศวกรอาวุโสประจำสำนักสำรวจทางธรณีวิทยาทางทะเลแห่งกว่างโจว กล่าวว่า ความลึกดังกล่าวถือเป็นสถิติใหม่ของการขุดเจาะระบบควอเทอร์นารี (Quaternary System) หรือตะกอนยุคควอเทอร์นารี ณ พื้นที่ไหล่ทะเลของจีน
ทั้งนี้ การขุดเจาะนอกชายฝั่งถือเป็นวิธีการตรงที่สุดในการสำรวจตรวจสอบชั้นในของโลก และช่วยให้คณะนักธรณีวิทยาสามารถเก็บรวบรวมตัวอย่างตะกอนและหินจากส่วนลึกภายในโลก
จางเสริมว่า จุดขุดเจาะล่าสุดอยู่ห่างจากปากแม่น้ำจูเจียงของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ราว 175 กิโลเมตร ณ ความลึกจากผิวน้ำ 92 เมตร โดยตัวอย่างที่ได้จากภารกิจนี้จะช่วยให้คณะนักวิทยาศาสตร์เข้าใจประวัติศาสตร์การกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่สำรวจ และวิวัฒนาการทางธรณีวิทยาของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำทะเลท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
หวังซื่อต้ง วิศวกรประจำสำนักสำรวจระบุว่างานขุดเจาะนี้ใช้อุปกรณ์ที่จีนพัฒนาขึ้นเอง เช่น แกนเจาะลูกสูบไฮโดรลิก และเทคโนโลยีขุดเจาะหลุมลึกทางทะเล เพื่อรับประกันคุณภาพสูงของตัวอย่างที่เก็บรวบรวมได้
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว