xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : จีนยุคใหม่กับความเหลื่อมล้ำอาจจะมีมากกว่าที่เราคิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพซ้าย : กลุ่มคนงานรับจ้างจีนกำลังรวมกลุ่มกันกินข้าวกลางวัน (ภาพจากสื่อจีน Caijing Zhichi Blog)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล

“จีน” ประเทศที่มีประชากร 1,400 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ปัจจุบันจีนประสบความท้าทายเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปที่พยายามหาวิธีนำพาประเทศพัฒนาต่อยอดขึ้นไปให้ “หลุดจากกับดักความยากจน” ขึ้นไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วในทุกๆ ด้าน เนื่องจากโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นการเปิดตลาดเสรีในแบบของจีน คือยังมี “มือที่มองไม่เห็น” จากรัฐบาลคอยควบคุมบัญชาการกิจกรรมทางเศรษฐกิจและนโยบายต่างๆ อยู่อย่างใกล้ชิด ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจของจีนที่ผ่านมาเข้าข่าย “Planning Economy” หรือการมีเศรษฐกิจแบบวางแผน มากกว่าที่จะให้กลไกตลาดทำงานโดยเสรี

ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา จีนมีการทุ่มทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมายทั่วประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอย่างมากในช่วงแรก ทำให้อุตสาหกรรมอสังหาฯ ทั่วประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ นำมาซึ่งการพัฒนาต่อเนื่องถึงภาคอุตสาหกรรมและบริการอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรมตกแต่งภายใน ภาคอุตสาหกรรมบริการนิติบุคคลบริหารอาคาร ภาคอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารมีเงินหมุนปล่อยกู้และเก็บดอกเบี้ยจากทั้งบริษัทพัฒนาอสังหาฯ และประชาชนที่เช่าซื้อบ้าน เป็นต้น

แม้ว่ารัฐบาลจีนพยายามที่จะพัฒนาเมืองต่างๆ ขยายโครงสร้างพื้นฐานไปในพื้นที่ห่างไกล กระนั้นก็ยังเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและการพัฒนาที่ปัจจุบันมีช่องว่างที่มากขึ้น จีนในยุคการเปิดประเทศใหม่ๆ รัฐบาลยอมให้คนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยขึ้นมาก่อนเพื่อที่จะช่วยเป็นหัวขบวนรถไฟพาคนอื่นๆ ร่ำรวยไปด้วยกัน

แต่มาจนถึงปัจจุบันความร่ำรวยในสังคมของจีนกลับกระจุกตัวในกลุ่มคน 0.33% กลุ่มคนชั้นกลาง 6.9% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มชนชั้นรากหญ้า 92.77% ของประชากรทั้งประเทศ ถึงแม้ว่าจีนจะประกาศชัยชนะกับสงครามกำจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ (ไม่มีคนอดอยากแบบแร้นแค้นแล้ว) แต่ชนชั้นรากหญ้าในจีนที่ยังต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบกันอยู่


ราคาอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละเมืองของจีนมีความต่างกันลิบ ซึ่งราคาอสังหาฯ เป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งของเมืองนั้นๆ เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เมืองชั้นหนึ่งของจีนอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ราคาเฉลี่ยของบ้านราวๆ ตารางเมตรละ 40,000-100,000 หยวน หรือประมาณ 200,000-500,000 บาท ในขณะที่เมืองชั้นสามชั้นสี่ บางเมืองราคาบ้านต่อตารางเมตรไม่ถึง 10,000 หยวน หรือประมาณ 50,000 บาท

รายได้ของประชากรในเมืองชั้นหนึ่งกับเมืองชั้นสามสี่ก็ต่างกันลิบลับ ยกตัวอย่างเช่น พนักงานร้านอาหารในเมืองชั้นหนึ่งได้รายรับประมาณเดือนละ 5,000 หยวน หรือ 25,000 บาท ในขณะที่เมืองชั้นสามสี่พนักงานร้านอาหารจะได้เงินเดือนราว 1,800-2,500 หยวน หรือประมาณ 9,000-12,500 บาท ดังนั้นหากถามคนจีนว่าใช้ชีวิตอยู่เมืองอะไรก็พอจะรู้ฐานะและรายได้โดยคร่าวๆ

 ภาพขวา : สาวจีนขับรถหรูในเซี่ยงไฮ้ (ภาพจากสื่อจีน Dongchedi)
จีนยุคใหม่กับความเหลื่อมล้ำอาจจะรุนแรงกว่าที่เราคิด! จากตัวเลขทางสถิติของปี 2022 รายงานโดยหน่วยงานเอกชนจีนได้เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึก กล่าวว่า “ความร่ำรวยมั่งคั่งของสังคมจีนทั้งหมด 790 ล้านล้านหยวน ในจำนวนนี้ 360 ล้านล้านหยวนอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนใหญ่ และจำนวน 430 ล้านล้านหยวนกระจายอยู่ในประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ และความมั่งคั่งที่อยู่ในมือประชาชน 430 ล้านล้านหยวนนี้ 290 ล้านล้านหยวนอยู่ในมือคนรวยชนชั้นสูงสุดของสังคมซึ่งมีอยู่ 4.6 ล้านคนทั่วประเทศ ที่เหลือ 110 ล้านล้านหยวนอยู่ในมือกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งมีจำนวน 99 ล้านคนทั่วประเทศ ส่วน 30 ล้านล้านหยวนสุดท้ายอยู่ในกลุ่มของประชาชนทั่วไปทั่วประเทศจำนวน 1,300 ล้านคน!”

ตัวเลขข้างต้นนี้น่าตกใจแต่เป็นสถานการณ์จริง หากมาดูอัตราความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยของชนชั้นคนรวยในจีนพวกเขามีสินทรัพย์เฉลี่ย 63 ล้านหยวน (ประมาณ 315 ล้านบาท) ต่อคน กลุ่มชนชั้นกลางมีสินทรัพย์เฉลี่ย 1.11 ล้านหยวน (ประมาณ 5.55 ล้านบาท) ต่อคน สุดท้ายประชาชนทั่วไปมีสินทรัพย์เฉลี่ย 23,770 หยวน (ประมาณ 118,850 บาท) ต่อคน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสินทรัพย์นำมาซึ่งการแบ่งชนชั้น และการแบ่งชนชั้นในจีนปัจจุบันนับวันยิ่งชัดเจน และการข้ามชนชั้นนับวันก็ยากมากยิ่งขึ้น

สังคมจีนในปัจจุบัน กลุ่มคนรวยที่อยู่บนยอดในสังคมมีเงินมหาศาล มีโอกาส ในแต่ละวันสามารถใช้ชีวิตหรูหราได้รับการบริการแบบพรีเมียมได้ทุกที่ สำหรับชนชั้นกลางในสังคมจีนถือว่ามีชีวิตสุขสบายตามอัตภาพ แต่ยังคงต้องทำงานหนักหาเงินให้ครอบครัวและวางแผนเพื่ออนาคต กลุ่มสุดท้ายประชาชนจีนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ชีวิตต้องต่อสู้ในทุกๆ วันเพื่อรายจ่ายในชีวิตประจำวัน คนกลุ่มนี้ถ้าหากว่าต้องมีรายจ่ายที่เป็นเงินก้อนเพื่อการศึกษาและการรักษาพยาบาลก็ไม่มีปัญญาจ่าย อาจจะต้องกู้หนี้ยืมสิน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องฐานะทางการเงินเท่านั้น แต่ยังยาวเป็นลูกโซ่ไปถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลและสถานะทางสังคม คนรวยจีนสามารถเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาลชั้นยอด มีความสัมพันธ์ในสังคมที่ดีสามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนชั้นนำ ทำให้ลูกของคนรวยจีนประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไปเพราะโอกาสและฐานะทางสังคมมากกว่า ในขณะที่ลูกชาวบ้านต้องแก่งแย่งกับทรัพยากรทางการศึกษาและการรักษาพยาบาลของรัฐที่มีอยู่จำกัด การเลื่อนฐานะทางสังคมอาจจะต้องกระเสือกกระสนแบบหืดขึ้นคอ

ในด้านของสถานการณ์เงินฝากของชาวจีนในปัจจุบัน จากรายงานประจำปี 2022 ของธนาคารการค้าจีน (China Mercants Bank) ระบุว่า ธนาคารมีกลุ่มคนรวยจำนวน 130,000 บัญชี มีเงินฝากเฉลี่ยบัญชีละ 28 ล้านหยวน (ประมาณ 140 ล้านบาท) เงินฝากของคนกลุ่มนี้รวมกันเป็นจำนวน 3.74 ล้านล้านหยวนหรือ 31% ของเงินฝากของธนาคารทั้งหมด สำหรับกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางมีจำนวน 3.96 ล้านบัญชี มีเงินฝากเฉลี่ยบัญชีละ 1.51 ล้านหยวน (ประมาณ 7.55 ล้านบาท) เงินฝากของคนกลุ่มนี้รวมกันเป็นจำนวน 6 ล้านล้านหยวนหรือคิดเป็น 50.3% ของเงินฝากของธนาคารทั้งหมด

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มบัญชีประชาชนทั่วไปมีจำนวนมากถึง 178 ล้านบัญชี มีเงินฝากเฉลี่ยบัญชีละ 12,500 หยวน (ประมาณ 62,500 บาท) ) เงินฝากของคนกลุ่มนี้รวมกันเป็นจำนวนเพียง 2.22 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 18.7% ของเงินฝากของธนาคารทั้งหมด จากตัวเลขตรงนี้แสดงให้ห็นว่ากลุ่มบัญชีทั่วไปมีจำนวนบัญชีมากที่สุดแต่กลับมีเงินรวมน้อยที่สุด กลุ่มคนรวยหยิบมือกลับมีเงินฝากมหาศาล

ความเหลื่อมล้ำที่มากของสังคมจีนทำให้เกิดพฤติกรรมจากแนวคิดที่เรียกว่า “仇富” อ่านว่า โฉวฟู่ แปลว่า เกลียดคนรวย “#แนวคิดเกลียดคนรวย” เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ทั่วไป อย่างเช่น ข่าวเจ้าหน้าที่รัฐใช้ของแบรนด์หรูเพียงชิ้นเดียวขณะปฏิบัติงานอาจจะถูกถ่ายภาพออกสื่อ ในสื่อโซเชียลก็มีการแชร์ต่อและวิจารณ์ หลักๆ คือไม่เหมาะสม วิจารณ์ถึงเงินเดือนที่มากเกินไปหรือถึงซื้อของแบรนด์เนมได้ และเรียกร้องให้ทางการตรวจสอบที่มาของเงิน หรือพฤติกรรมการอวดรวยต่างๆ จะถูกโจมตีได้ง่ายๆ ปัจจุบันแนวคิดเกลียดคนรวยในสังคมจีนยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ต้นตอส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสังคมจีนด้านความเหลื่อมล้ำที่นับวันยิ่งมากขึ้นนั่นเอง

จีนกับการเปิดประเทศพัฒนาเศรษฐกิจมากว่า 45 ปี รัฐบาลมีความหวังให้กลุ่มคนที่รวยขึ้นมาก่อนช่วยดึงคนอื่นๆ ให้รวยไปด้วยกัน แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่และเศรษฐกิจที่ถดถอย ความหวังยังคงห่างไกลกับความเป็นจริงนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น