ทีมนักวิจัยของจีนค้นพบข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวงปีของต้นไม้ในภูมิภาคดังกล่าว
คณะนักวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้เก็บตัวอย่างจากต้นสนหิมาลายันเฮมล็อก (Tsuga dumosa) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ต้นไม้ท้องถิ่นที่เก่าแก่ที่สุด จากพื้นที่ภูเขาอู๋เลี่ยงทางตอนกลางของอวิ๋นหนาน
หลังจากนั้น คณะนักวิจัยสร้างลำดับความกว้างวงปีต้นไม้ของต้นสนหิมาลายันเฮมล็อก และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ นำสู่การค้นพบว่าความชื้นที่ปรากฏในช่วงฤดูใบไม้ผลิ-ต้นฤดูร้อน เป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการเติบโตของต้นสนหิมาลายันเฮมล็อกในภูมิภาคภูเขาอู๋เลี่ยง
การศึกษาต่อเนื่องจากผลวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่าพื้นที่ตอนกลางของอวิ๋นหนานประสบกับความผันผวนของภาวะแห้งแล้งทั้งระดับระหว่างปีและระดับระหว่างทศวรรษ ควบคู่กับการเกิดภาวะแล้งหรือชื้นจัดที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนั้น การศึกษาต่อเนื่องยังพบว่าภูมิภาคอวิ๋นหนานประสบกับช่วงปีแล้งจัด 11 ปี ในรอบ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดยืนยันได้ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยฟ่านเจ๋อซิน นักวิจัยประจำสวนพฤกษศาสตร์ฯ ระบุว่า การศึกษานี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจแนวโน้มและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคในระยะ 100 ปี
ฟ่านเสริมว่าการศึกษานี้เน้นย้ำการศึกษาสภาพภูมิอากาศในอดีตที่มีผลต่อการเติบโตของต้นสนในภูมิภาคกึ่งเขตร้อน และความสามารถจับสัญญาณสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับน้ำและความชื้นในระดับภูมิภาคของต้นสน โดยข้อมูลจากการศึกษานี้สำคัญต่อการประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคนี้ในระยะยาว
อนึ่ง การศึกษาข้างต้นถูกเผยแพร่ผ่านวารสารพาลาโอจีโอกราฟี พาลาโอไคลมาโตโลจี พาลาโออีโคโลจี (Palaeogeography, Palaeoclimatology, Palaeoecology)
ที่มา สำนักข่าวซินหัว