ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังถึงอุตสาหกรรมยานยนต์จีนที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ยุค 1950 และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2023 นี้ จีนกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว จีนมองว่าเป็นนี่ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศเพราะเป็นผลมาจากกัดฟันสู้พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์มาหลายทศวรรษ
ตั้งแต่การเริ่มผลิตรถบรรทุกคันแรกของจีนชื่อแบรนด์เจี่ยฟั่ง (Jiefang) ซึ่งก่อตั้งและเริ่มไลน์การผลิตในปี 1968 นับเป็นบริษัทผลิตรถยนต์แห่งแรกในจีน แบรนด์เจี่ยฟั่งอยู่ในกลุ่มบริษัทรัฐวิสาหกิจ ช่วงที่ 2 ของการพัฒนารถยนต์แบรนด์จีนก้าวกระโดดได้จากการร่วมทุนกับต่างชาติ ได้ผลิตรถยนต์รุ่นต่างๆ จนประสบความสำเร็จดังต่อไปนี้ 1.ฟู่คัง (Fukang) การร่วมทุนระหว่างจีนและฝรั่งเศส 2.ซานทานา (Santana) การร่วมทุนระหว่างจีนและเยอรมนี 3.เจ็ตต้า (Jetta).การร่วมทุนระหว่างจีนและเยอรมนี
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมยานยนต์จีนมาจากการก่อตั้งโรงงานรถยนต์แห่งแรกในเมืองฉางชุน ด้วยความช่วยเหลือของอดีตสหภาพโซเวียตในปี 1953 ต่อมาเพราะต้องการสร้างฐานที่มั่นคงด้านการทหารและผลิตรถยนต์ที่จำเป็นเพื่อใช้ในทางเศรษฐกิจ นอกจากรถบรรทุก จีนได้เริ่มผลิตรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อสนองการใช้งานภาคครัวเรือนทั่วไป
ในเดือน เม.ย. ปี 1958 รถยนต์ส่วนบุคคลแบบ 4 ที่นั่งจีนเริ่มผลิตขึ้นได้เอง ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า ตงฟง (Dongfeng) หมายถึง ลมแห่งทิศตะวันออก ตั้งตามความตั้งใจของท่านประธานเหมาเจ๋อตงในขณะนั้น รถยนต์ยี่ห้อหงฉี (Hongqi) รุ่น CA72 เป็นรถยนต์หรูคันแรกของจีนที่ถูกผลิตออกมาและในด้านฟังก์ชันการใช้งานถือว่าตอบโจทย์และประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นรถยนต์ของผู้นำจีนและยังใช้รับแขกต่างประเทศด้วย รถยนต์หงฉีกลายเป็นรถยนต์ที่ใช้ในงานสำคัญของจีน เช่น งานเดินพาเหรดแสดงแสนยานุภาพทางทหาร รถยนต์หงฉีก็เป็นรถยนต์ที่ผู้นำจีนใช้ในการนำขบวนทุกครั้งด้วย นับเป็นรถยนต์แบรนด์หรูและเป็นความภาคภูมิใจของชาวจีน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์จีนพัฒนาแบบก้าวกระโดดคือ “การรับการลงทุนจากต่างประเทศ” ทำให้จีนเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้า และเรียนรู้ประสบการณ์ด้านบริหารจัดการ
บริษัทรถยนต์ต่างชาติที่จีนร่วมทุนเป็นบริษัทแรกคือ บริษัทโฟล์คสวาเก้น จากเยอรมนี ได้ก่อตั้งโรงงานร่วมกันในปี 1983 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง รถยนต์แบรนด์โฟล์คสวาเก้น (Volkswagen) ได้รับความนิยมในตลาดจีนอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าโฟล์คสวาเก้น ได้รับประโยชน์จากตลาดผู้บริโภคจีนที่มหาศาลด้วย ในปัจจุบันคนจีนโดยทั่วไปยังเชื่อถือในแบรนด์ของโฟล์คสวาเก้นอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มของเจ้าหน้าที่รัฐมีการซื้อรถยนต์โฟล์คสวาเก้นใช้กันอย่างแพร่หลาย
หลังจากความสำเร็จจากการเข้ามาลงทุนร่วมของโฟล์คสวาเก้นในจีน ทำให้แบรนด์รถยนต์อื่นๆ ทยอยเข้ามาตั้งโรงงานการผลิตในจีน รถยนต์สายเลือดจีนแบบ 100% เริ่มมีขึ้นอย่างจริงจังในช่วงหลังปี 1990 เช่น แบรนด์ฉางเฉิง (Changcheng) แบรนด์จี๋ลี่ (Jili) แบรนด์ฉีรุ่ย (Qirui) โดยแบรนด์จีนต่างๆ เหล่านี้มีความพยายามที่จะพัฒนารถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาโดยตลอด แน่นอนว่าแบรนด์จีนเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาได้เพราะเรียนรู้ ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ว่าในช่วงเริ่มต้นแบรนด์จีนเหล่านี้ยังสู้แบรนด์รถยนต์จากต่างประเทศจากโรงงานร่วมทุนไม่ได้ ไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากนัก อีกทั้งราคาขายยังขายได้ไม่สูงนัก (คุณภาพและชื่อเสียงแบรนด์ยังไม่ทรงพลังมากพอ)
จุดพลิกผันของรถยนต์แบรนด์จีนมาเกิดขึ้นภายหลังเพราะ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV” ซึ่งจีนมีข้อได้เปรียบด้านไลน์การผลิตแบตเตอรี่และแผงวงจรที่ครบครัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม “Permanent magnet rare earth” หรือธาตุหายากแม่เหล็กถาวร ที่จีนมีความเข้มแข็งอย่างมาก ปัจจัยพื้นฐานที่ดีเหล่านี้ทำให้จีนสามารถพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและก้าวสู่ผู้นำโลกได้รวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ “E-tron” หรือระบบเครื่องจักรไฟฟ้า ที่จีนนำเข้ามาควบรวมกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ให้มีความไฮเทคมากขึ้น เช่น การขับขี่อัตโนมัติแบบไร้คนขับ การตอบโต้อัตโนมัติระหว่างมนุษย์ผู้ขับรถยนต์และคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณ 5G และการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ใช้กับรถยนต์
พลังงานไฟฟ้า สรุปสั้นๆ ว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบรนด์จีนมีการใส่ฟังก์ชันเข้าไปเยอะกว่าแบรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากประเทศอื่น ทำให้ปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจีนสามารถไปตีตลาดได้หลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จีนมีความมั่นใจว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศสามารถแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ระดับโลกได้แบบชนิด "ต่อสู้แบบประชิดตัว"
การกำหนดสูตรความสำเร็จของรถยนต์จีนในการเจาะตลาดต่างประเทศมีวิธีการต่างกันไป อย่างเช่น กลุ่มธุรกิจรถยนต์จีน SAIC ใช้วิธีการ M&A (การซื้อและควบรวมกิจการ) ได้ทุ่มทุนซื้อแบรนด์ MG ของอังกฤษ โดยตั้งฐานการผลิตหลักอยู่ในจีนและส่งออกในแบรนด์ MG เพื่อจะได้เติบโตในตลาดต่างประเทศได้รวดเร็วเพราะแบรนด์ MG เป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว วิธีการของรถยนต์จีนฉีลี่ (Qili) ใช้วิธีการเข้าไปประเทศเป้าหมายและร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ท้องถิ่น เช่น ฉีลี่เข้าไปในรัสเซีย แอฟริกาและอเมริกาใต้ และร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ท้องถิ่นนั้นๆ ผลิตรถยนต์และออกขาย ซึ่งส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ดี ยอดขายในประเทศเป้าหมายสามารถอยู่ได้ใน 10 อันดับแรก
การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์จีน จากเอาตลาดที่มีผู้บริโภคมากมาแลกกับเทคโนโลยี กลายมาเป็นวันนี้ที่มี know how (มีความรู้เชิงปฏิบัติ) ของตัวเอง ปัจจุบันจีนควบ 2 ตำแหน่งคือเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ส่งออกมากที่สุดในโลก และเป็นตลาดผู้บริโภครถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แบรนด์รถยนต์ของจีนกำลังจะเปลี่ยน “การแบ่งเค้ก” ในอุตสาหกรรมรถยนต์เวทีโลก ตลาดในประเทศเองผู้บริโภคนิยมซื้อแบรนด์จีนมากขึ้น จนทำให้แบรนด์ต่างชาติในจีนจำเป็นต้องปรับราคาขายลงมา
รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเสมือนเป็นการเริ่มศักราชใหม่ของวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ จีนนับว่าเป็นหนึ่งประเทศที่จับเทรนด์ใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจีนมองว่า “ตัวเองต้องแข็งแกร่งก่อนถึงจะมีอำนาจต่อรอง” รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะค่อยๆ เป็นสินค้าส่งออกหลักของจีนในอนาคตอันใกล้นี้ และแน่นอนว่าเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าของจีนได้ส่วนแบ่งจากตลาดรถยนต์ทั่วโลกได้เรื่อยๆ อิทธิพลของจีนจะมากขึ้นไปอีกและเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญว่าจีนได้ก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ใช่หยุดแค่สินค้าเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานทั่วไป
อีกประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตรถยนต์ที่สูงกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ (โอเวอร์ซัปพลาย) ในปี 2022 จีนผลิตรถยนต์ทั้งปีทั่วประเทศสูงถึง 27 ล้านคัน แต่การซื้อรถยนต์ภายในประเทศในเดือน ม.ค.ของปีนี้ลดลงกว่าช่วงเดียวกันถึงปีที่แล้วถึง 36% โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานสันดาบที่สถานการณ์โอเวอร์ซัปพลายค่อนข้างรุนแรง (โรงงานในจีนส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์พลังงานสันดาบอยู่) หลายโรงงานผลิตรถยนต์เดินกำลังผลิตเพียงประมาณ 50% จากกำลังการผลิตที่เปิดได้ทั้งหมด มีบริษัทรถยนต์ในจีน 38 แห่งที่มีรถยนต์ค้างในสต๊อกรวม 4.05 ล้านคัน ทำให้หลายโรงงานลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ลดการจ้างงานตามมา
เพื่อลดความกดดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจีนใหม่ สนับสนุนให้ประชาชนซื้อรถยนต์กันมากขึ้น ทั้งรถยนต์มือหนึ่งและรถยนต์มือสอง โดยรัฐจะให้สิทธิพิเศษทางภาษี เงินอุดหนุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องดูกันต่อไปว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ประชาชนจะยอมควักเงินออกมาใช้จ่ายกันมากขึ้นหรือไม่อย่างไร