นักวิเคราะห์และคนวงในอุตสาหกรรมของจีน เมิน “ผลกระทบหนาวยะเยือก” ที่สื่อต่างชาติประโคมข่าวว่า จีนจะได้รับจากประกาศิตล่าสุดของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งสั่งห้ามบริษัทอเมริกันร่วมลงทุนกับจีนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
หลังจากเป็นที่คาดเดาและโจษขานในสื่อมานานหลายสัปดาห์ ในที่สุดเมื่อวันพุธ (9 ส.ค.) ประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐฯ ก็ใช้อำนาจฝ่ายบริหารลงนามในคำสั่งห้ามบริษัทร่วมทุนและบริษัทไพรเวตอิควิตีของสหรัฐฯ ร่วมลงทุนกับจีนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บางอย่าง ซึ่งจีนอาจนำไปใช้เสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหาร โดยคำสั่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2567
กระทรวงการคลังมะกันยืนยันว่า คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ และเป้าหมายที่ถูกดำเนินการก็อยู่ในวงแคบๆ โดยสหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นต่อข้อผูกพัน ที่มีมายาวนานในการเปิดกว้างด้านการลงทุน
แต่รัฐบาลปักกิ่งโต้ว่า เป็นการพลิกลิ้นของไบเดน จากที่เคยให้คำมั่นว่าจะไม่พยายามแยกเศรษฐกิจจีนจากห่วงโซ่อุปทาน หรือขัดขวางการพัฒนาประเทศของจีน พร้อมกับขอให้รัฐบาลวอชิงตันยกเลิกมาตรการจำกัดการลงทุนกับจีนโดยเร็ว
ด้านนายเกา หลิงอวิ้น ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์ในกรุงปักกิ่งให้ความเห็นว่า เมกาพยายามหยุดยั้งการพัฒนาประเทศของจีนมานานหลายปีแล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้จึงไม่มีความสลักสำคัญอะไรเป็นพิเศษ และไม่ทำให้จีนรู้สึกหนาวสะท้านแต่อย่างใด
ผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีรายหนึ่งของจีนเชื่อว่า ตลาดจะไม่ตอบสนองมากนักกับเรื่องนี้ เพราะมีการโฆษณากันมานานและข่าวถูกย่อยจนละเอียดแล้ว นอกจากนั้น การลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ในภาคเทคโนโลยีแดนมังกรอยู่ในช่วงขาลงจากพิษสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน ที่ยืดเยื้อมาหลายปี
จากข้อมูลของรอยเตอร์ การร่วมลงทุนของสหรัฐฯ ในจีนลดลงจาก 32,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 เหลือ 9,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 และต้นปี 2566 จนถึงขณะนี้อยู่ที่ 1,200 ล้านดอลลาร์
นายโจว หมี่ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจีนชี้ว่า เป็นคำสั่งที่ลิดรอนโอกาสในการลงทุนของบริษัทอเมริกัน ที่ถือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและมีความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยี
การประกาศคำสั่งดังกล่าวได้ทำให้ภาคธุรกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ ตกอยู่ในความไม่แน่นอนมากขึ้น ต่างก็รอคอยรายละเอียดชัดเจนของมาตรการ โดยขณะนี้มีบริษัทอเมริกันทำธุรกิจในจีนมากกว่า 7 หมื่นราย
นายเกา แห่งสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์ระบุว่า คำสั่งของไบเดน จะเป็นอุปสรรคต่อการไหลเข้ามาของกองทุนต่างๆ ในจีนในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่อาจหยุดยั้งการแสวงหาหนทางสร้างผลกำไร ซึ่งเป็นลักษณะธรรมดาของธุรกิจร่วมลงทุน และบริษัทสหรัฐฯ ย่อมหาทางซิกแซ็กมาตรการเอาจนได้เสมอ
ที่มา : โกลบอลไทมส์