xs
xsm
sm
md
lg

ไทยหนุนบทบาทเงินหยวนและสกุลเงินในเอเชีย ลดความเสี่ยงเงินบาท-ดอลลาร์ผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธนบัตรไทยที่สาขาธนาคารกสิกรในกรุงเทพฯ - ภาพ : รอยเตอร์
สื่อจีนเสนอข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแผนส่งเสริมการใช้เงินหยวนของจีน เงินริงกิตของมาเลเซีย และสกุลเงินอื่นๆ ของชาติเอเชียในการทำการค้าและการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐฯ

ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุในการให้สัมภาษณ์ที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ประเทศไทยพึ่งพาการค้าและการท่องเที่ยว และอยู่ในกลุ่มประเทศจำนวนหนึ่งที่กำลังดำเนินการ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากเงินดอลลาร์ ซึ่งยังคงแข็งค่าและส่งผลให้สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลง จนกลายเป็นเครื่องมือในการดำเนินกุศโลบายทางเศรษฐกิจไป โดย ธปท.กำลังทำงานร่วมกับธนาคารกลางของจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นความคืบหน้ามากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ความพยายามของไทยในการส่งเสริมให้ใช้สกุลเงินอื่นนอกเหนือจากเงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นมานานกว่าสิบปีแล้ว และขณะนี้กำลังได้รับแรงผลักดันมากขึ้นจากการเตรียมการระหว่างธนาคารกลางและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน

นางอลิศรา ระบุว่า จีนเป็นชาติคู่ค้าและการลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย โดยไทยมีการค้ากับจีนในรูปเงินหยวนเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% ในปีที่แล้วจากราว 0.3% ของการค้าทั้งหมดในปี 2558 อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายกฎระเบียบของจีนและการเปิดกว้างให้บริษัทสำรวจทางเลือกมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน การค้าและการลงทุนในรูปเงินหยวนจึงทำได้มากขึ้นในขณะนี้ แต่ยอมรับว่า การลดการใช้เงินดอลลาร์ทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่มีสภาพคล่องมากที่สุดและใช้กันอย่างกว้างขวางมากที่สุด ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ควรหยุดแสวงหาโครงการส่งเสริมการใช้สกุลเงินระดับภูมิภาค

นางอลิศรา ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านเสถียรภาพการเงิน มีผล 1 ต.ค.เป็นต้นไป ยังระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนบาท-ดอลลาร์มีความผันผวนเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว การมีเครื่องมือมากขึ้นเพื่อรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของ ธปท.เพื่อทำให้แน่ใจว่า ค่าเงินบาทจะมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระเบียบ สอดคล้องกับกลไกตลาดและปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท โดย ธปท.อาจพิจารณาเข้าแทรกแซงเฉพาะกรณีที่มีการเคลื่อนไหวมากเกินไปและสวนทางกับปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท การเตรียมพร้อมรับมือกับการผันผวนที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นหนทางดีที่สุดสำหรับภาคธุรกิจ


ทั้งนี้ 
ธปท.เริ่มการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเมื่อปี 2563 โดยเงินบาทอยู่ในรายการตรวจสอบการบิดเบือนค่าเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้การท่องเที่ยวหายไปหลายพันล้านดอลลาร์นั้น ได้ทำให้เกิดแรงเทขายจนเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปีเมื่อปี 2565 จากนั้นจึงเริ่มพลิกฟื้นราว 10% โดยเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในบรรดาสกุลเงินหลักของเอเชียถึง 3% เมื่อเดือน ก.ค.2566 หลังจากร่วงต่อเนื่องมา 3 เดือน และนับตั้งแต่เดือน พ.ค.2566 การแกว่งตัวของเงินบาทเกือบแตะระดับสูงสุดของเกณฑ์การประมาณการ

ธปท.ระบุว่า ไทยส่งเสริมการใช้สกุลเงินในภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2554 แต่มีความคืบหน้าล่าช้า เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ เช่น กฎระเบียบการแลกเปลี่ยนเงินตราที่เข้มงวด สกุลเงินท้องถิ่นขาดสภาพคล่อง ต้นทุนที่สูงในการป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน และการขาดความตระหนักรู้ในเรื่องการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น


เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของไทยมีขึ้นในท่ามกลางปฏิกิริยาเชิงลบที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกต่อการครองความเป็นเจ้าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ผ่านมาจีนมีการลงนามข้อตกลงส่งเสริมการค้าด้วยเงินหยวนหลายฉบับ ขณะที่อินเดียกำลังส่งเสริมการใช้เงินรูปี และอีกหลายชาติตั้งแต่บราซิลไปจนถึงอาร์เจนตินา กำลังมองหาทางเลือกอื่น นอกเหนือจากการผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ



กำลังโหลดความคิดเห็น