xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันคลังสมองมะกันชี้จีนเป็นแค่ละครตัวหนึ่งในแผนพัฒนาเทคโนโลยีของซาอุฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน ซึ่งมาเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2565 - ภาพ : เอเอฟพี
กองทุนคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพสากล (Carnegie Endowment for International Peace) ในกรุงวอชิงตัน รายงานผลการวิจัยฉบับใหม่เมื่อต้นสัปดาห์ ซึ่งระบุว่า ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างซาอุดีอาระเบียกับจีน ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นไปตามการจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาภาคเทคโนโลยีของซาอุฯ และจีนเป็นละครตัวหนึ่งสำหรับซาอุฯ ซึ่งตระหนักดีว่า ควรทำภารกิจใดก่อนหรือหลัง ตาม “วิสัยทัศน์ 2030” (Vision 2030) ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่ซาอุฯประกาศในปี 2559

รายงานการวิจัยชิ้นนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิฟอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ในนครนิวยอร์ก มีเนื้อหาว่า “วิสัยทัศน์ 2030” คือสิ่งยืนยันความต้องการมีที่ยืนในฐานะผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ในโลกของซาอุฯ นอกเหนือจากความมั่งคั่งจากการขายน้ำมัน โดยจากข้อมูลขององค์การยูเนสโก จีดีพีของซาอุฯ ในด้านการวิจัยและพัฒนาในปี 2563 เพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าจากเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน 

ซาอุฯ ซึ่งเป็นชาติร่ำรวยที่สุดในอ่าวเปอร์เซียและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน มีการร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับจีนมากขึ้นในช่วงที่จีนกำลังบุกเบิกช่องทางให้ความทะเยอทะยานของตนเองเข้ามาในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อแข่งขันกับสหรัฐฯ เห็นได้จากจีนทำตัวเป็นคนกลางเจรจาให้ซาอุฯและอิหร่านตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์กันได้สำเร็จเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และการเยือนซาอุฯ ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อเดือน ธ.ค.2565 พร้อมกับลงนามข้อตกลงความร่วมมือกว่า 30 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งการลงทุนในด้านเทคโนโลยี

กรุงริยาดของซาอุดีอาระเบีย ชาติในอ่าวเปอร์เซียแห่งนี้พยายามสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ นอกเหนือรายได้มั่งคั่งจากน้ำมัน - ภาพ : Shutterstock
รายงานยังระบุด้วยว่า แม้กรอบความเป็นหุ้นส่วนจีน-ซาอุฯ ปูทางให้บริษัทเอกชนของจีนเข้ามาในตลาดซาอุฯ เห็นได้จากบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี ซึ่งกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในโครงข่าย 5G ของซาอุฯ แต่เป็นความร่วมมือที่มุ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างผลประโยชน์ให้แก่คนในท้องถิ่นของซาอุฯ โดยยังกำหนดให้บริษัทของจีนต้องจ้างชาวซาอุฯ เข้าทำงาน อีกทั้งเงินลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มาจากกองทุนเพื่อการลงทุนของภาครัฐของซาอุฯ (PIF) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่สุในโลกกองทุนหนึ่ง

นอกจากนั้น แม้ความสัมพันธ์กับจีนเจริญงอกงาม แต่ในหมู่ชนชั้นสูงของซาอุฯ ก็ยังคงชอบทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับชาติตะวันตก โดยความร่วมมือของสถาบันการศึกษาซาอุฯ กับนานาชาตินั้น กว่าร้อยละ 60 เป็นความร่วมมือกับสถาบันของตะวันตก


รายงานยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า โครงการคิงอับดุลลาซิซซิตี้เพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำทั่วโลกนั้น ไม่มีมหาวิทยาลัยของจีนรวมอยู่ในโครงการนี้เลย และถึงแม้มีนักศึกษาของซาอุฯ ไปเรียนวิทยาศาสตร์ที่จีน 2-3 พันคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านตามโครงการของรัฐบาล แต่นักวิทยาศาสตร์สวนใหญ่ของซาอุฯ ล้วนผ่านการฝึกฝนอบรมในชาติตะวันตกทั้งสิ้น


ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น