ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะบอกเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของการแข่งขันของกลุ่มคนจีนยุคใหม่ โดยมีคำยอดฮิตที่อธิบายถึงการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในสังคม แข่งกันไปแข่งกันมาจนเหนื่อยล้า แข่งขันกันให้พ่ายแพ้กันไปข้างหนึ่ง หรือที่จีนเรียกว่า “内卷” อ่านว่า เน่ยจ่วน แปลสั้นๆ ว่า “แข่งกันเองในวงล้อ” คำว่าเน่ยจ่วน คนจีนพูดกันสั้นๆ ว่า “卷” (อ่านว่าจ่วน) โดยประโยคที่ใช้บ่อยเช่น “很卷” อ่านว่า เหิ่นจ่วน ความหมายคือ แข่งขันกันแบบสุดติ่ง
สังคมยุคใหม่กับ “การแข่งขันกันในวงล้อ” ที่จริงมีมานานแล้ว แต่ในยุคสมัยใหม่ถูกให้ความสนใจมากขึ้น เพราะความเจริญทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้คนมีความต้องการที่มากขึ้นตามมา จีนประเทศที่มีประชากร 1,400 ล้านคน การแข่งขันในประเทศย่อมมีมากเป็นธรรมดา ความเบื่อหน่ายที่เกิดจากการแข่งขันในสังคมจีนผู้เขียนเชื่อว่ามีมานานแล้ว แต่เพราะว่าสังคมจีนยุคใหม่มีโซเชียล ผู้คนมากมายมีการแชร์ข้อมูลและประสบการณ์ ทำให้ประเด็นการแข่งกันเองจนเหนื่อยล้าถูกขยายใหญ่และกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมจีน
สำหรับสาเหตุของสังคมจีนที่ “แข่งขันกันในวงล้อ” ชาวเน็ตจีนเองได้ให้ความเห็นต่างๆ นานา ผู้เขียนสรุปมาได้ดังต่อไปนี้
-พื้นฐานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เพราะตั้งแต่อดีตสังคมจีนให้ความสำคัญกับการแข่งขันและต้นทุนทางสังคม จนมาถึงปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ เห็นได้จากการแข่งขันกันตั้งแต่ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ การแข่งขันกันส่งลูกไปติวเรียนพิเศษ เรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ ในด้านการทำงานต้องแข่งกันเพื่อให้ได้ทำงานดีมั่นคง คนที่ครอบครัวมีต้นทุนสังคมที่ดีก็มีโอกาสจะได้งานดีมั่นคงมากกว่า
-ปัญหาระบบการศึกษาจีน ระบบการศึกษาจีนเป็นแบบประเมินเดียว เน้นการเรียนเพื่อไปสอบ ขาดการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์
-อุตสาหกรรมเกิดใหม่บางประเภทเติบโตและเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป อย่างเช่น อุตสาหกรรมไอทีเป็นที่นิยม คนรุ่นใหม่จำนวนมากแห่กันไปทำงานด้านไอทีทำให้อุตสาหกรรมไอทีจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การแข่งขันในตลาดงานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงทางตัน
-สังคมที่ให้ความสำคัญกับเส้นสาย การใช้เส้นสายที่รุนแรงของสังคมจีน ทำให้การบริหารของหน่วยงานหลายแห่งบิดเบี้ยว การแข่งขันก็ทวีขึ้นไปอีก
-ประชาชนจำนวนมหาศาลต่างพยายามเข้าเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อเข้ามาอยู่รวมกันในเมืองก็ต้องแข่งขันกันสูง
วัฒนธรรมจีนดั้งเดิมเน้นความขยันหมั่นเพียร การทำงานหนัก และการแข่งขัน ความคิดนี้ยังคงอยู่ในสังคมสมัยใหม่และมีผลกระทบต่อพฤติกรรมและค่านิยมของผู้คน ผู้คนมักเชื่อว่าความสำเร็จและความสุขสามารถเกิดขึ้นได้จากความพยายามอย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียนสังเกตเห็นแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สื่อกับประชาชนจะเน้นในเรื่องการ “奋斗” อ่านว่า เฟิ่นโต้ว หมายถึงการต่อสู้ มีคำขวัญปลุกให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ไม่ท้อถอยต่อชะตากรรมอย่างคำขวัญที่ว่า “พับแขนเสื้อขึ้นแล้วทำต่อไป” และผู้เขียนยังสังเกตไปถึงบทความเนื้อร้องเพลงชาติจีน ที่ทำนองจะค่อนข้างเร็วเหมือนเพลงปลุกใจ ส่วนเนื้อร้องจะเป็นการปลุกให้ประชาชนรักชาติและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออนาคตข้างหน้า ดังนั้น เราพอจะมองเห็นภาพได้ว่าชาวจีนเป็นชนชาติที่ขยัน ต่อสู้และไม่ย่อท้อเพราะการปลูกฝังที่มีมานมนานแบบนั้น
ที่น่าสนใจคือ “การแข่งขันกันในวงล้อ” ของคนจีนไม่จำกัดเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น คนจีนเอาความเคยชินดังกล่าวไปปฏิบัติในต่างประเทศด้วย มีข่าวหนึ่งพาดหัวว่า “คนจีน ‘แข่งขันกันในวงล้อ’ ตั้งแต่ในจีนยันไทย แข่งขันกันจนชนะกันไปข้างหรือแข่งขันกันจนตัวตาย?” ในบทความนี้มีการตั้งประเด็นว่า “การแข่งขันในวงล้อ” มีอยู่ทุกที่ในประเทศไทย แต่วิธีการแข่งขันไม่เหมือนกับจีน (คนไทยจะผ่อนคลายกว่ามีการหยุดพักบ้าง) คนจีนหลายคนที่เดินทางอพยพมาหาโอกาสที่ไทย จะมากระจุกรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เห็นว่างานอะไรดีธุรกิจอะไรดีก็จะแห่กันทำตาม อย่างเช่นการเปิดร้านอาหารหม่าล่า หม้อไฟเสฉวนในไทย สุดท้ายกลายเป็นว่ายิ่งแข่งยิ่งรุนแรง อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การขายสินค้าจีนออนไลน์ในไทย สินค้าที่ขายดีคนจีนก็ไปขายกันเยอะตัดราคากันแย่งลูกค้า สุดท้ายร้านค้าที่เข้ามาแข่งขันกันก็ขาดทุนกันถ้วนหน้า คนจีนที่มาไทยส่วนหนึ่งต้องการชีวิตเรียบง่าย ในขณะที่อีกกลุ่มมองว่า มาไทยเพื่อหาตลาดใหม่ที่การแข่งขันยังไม่รุนแรง (สุดท้ายกลายเป็นแข่งขันรุนแรงในวงล้อเวอร์ชันนอกประเทศจีน)
“คนจีนในต่างประเทศแข่งกันเองในวงล้อ” มีลักษณะเด่นที่วิธีการเหมือนกัน ทำธุรกิจเดียวกัน แข่งกันตัดราคาแย่งลูกค้า สุดท้ายก็แข่งกันให้ตายไปข้าง!
สังคมแห่ง “การแข่งขันกันในวงล้อ” ของจีน ปัจจุบันนำปัญหามาให้หลายอย่าง เช่น ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตส่วนบุคคล ความอยุติธรรมทางสังคมที่ผู้คนรู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น นักจิตวิทยาจีนหลายคนค่อนข้างเป็นห่วงกับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น การแข่งขันที่รุนแรงเกินไปในสังคมจีนนำมาสู่ปัญหาโรคซึมเศร้า จากรายงานการสำรวจของหน่วยงานอิสระหนึ่งในปี 2020 รายงานว่าสัดส่วนของนักเรียนมัธยมต้นที่มีอาการซึมเศร้าอยู่ที่ 28.4% สัดส่วนของอาการซึมเศร้าของนักศึกษาปริญญาตรีอยู่ที่ 31.38% ย้อนกลับไปที่การสำรวจในปี 2017 พบว่า 20% ของนักเรียนมัธยมต้นเคยคิดฆ่าตัวตาย และ 27.4% ของวัยรุ่นมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ผู้เขียนมองว่ากลุ่มเด็กจีนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ในอัตราที่สูงเลยทีเดียว โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในจีนมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุ
สถานการณ์ “การแข่งขันกันในวงล้อ” ของสังคมจีนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า การแข่งขันไม่เพียงมีอยู่ในชีวิตและสังคมการทำงานของผู้ใหญ่เท่านั้น แข่งขันกันในหมู่นักเรียนนักศึกษาก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้นักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นไม่เพียงแต่ต้องเรียนและท่องหนังสือเพื่อให้ได้เกรดดีๆ เท่านั้น ยังต้องเรียนเสริมนอกชั้นเรียนอีกด้วย คนเป็นพ่อแม่กลัวเห็นว่าลูกของคนอื่นลงเรียนพิเศษกัน หากลูกตัวเองไม่ได้เรียนจะตามหลังเพื่อนในห้อง ส่งผลให้ภาระการเรียนของเด็กนักเรียนหนักหนามากขึ้น สุดท้ายแล้วส่งผลให้เด็กและผู้ปกครองต่างมีแต่ความวิตกกังวลและความกดดัน
คนจีนมองกันว่าการแข่งขันในสังคมทุกวันนี้เสมือนกับการ “วิ่งอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการแข่งขันที่ไม่การสิ้นสุดเพื่อไขว่คว้า กับทรัพยากรในสังคมที่มีอยู่จำกัด” เพื่อให้ชนะในการแข่งขันและอยู่เหนือผู้อื่น นอกจากต้องทำงานหนักเป็นพื้นฐานแล้ว ยังมีแรงขับเคลื่อนที่มาจากแรงกดดันจากสังคมภายนอกอีกด้วย เหมือนหนูถีบจักรที่จะหยุดไม่ได้เลย
ในภาคการศึกษามีการแข่งขันรุนแรงจนรัฐบาลจีนต้องออกมาปราบปรามเรื่องการเรียนกวดวิชา ถึงแม้ว่าจะมีการปราบปรามแต่ผู้ปกครองที่เงินหนายังให้ลูกได้เรียนพิเศษ แค่เปลี่ยนจากการออกไปนั่งเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา มาเป็นจ้างอาจารย์มาสอนที่บ้านแบบตัวต่อตัวแทน!
เช่นเดียวกับในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากการเรียนที่ดุเดือดแล้ว ยังต้องเข้ากิจกรรมชมรมต่างๆ ด้วย โดยชมรมที่ได้รับความนิยมต้องไปแข่งกันเข้า ต้องเลือกกิจกรรมที่จะสามารถเป็นแต้มต่อให้ตัวเองเมื่อจะไปเรียนต่อหรือทำงานในอนาคต
ดังนั้น นักเรียนจีนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนตามใจต้องการและปรารถนา แต่ที่เลือกเรียนไปเพราะสภาพแวดล้อมสังคมและภายนอกผลักดันให้ตัดสิน การเติบโตของคนจีนรุ่นใหม่จำนวนมากไปในแนวทางที่สิ่งแวดล้อมภายนอกคาดหวังอยากให้เป็น บางคนถือว่าข้อกำหนดและมาตรฐานของโลกภายนอกเป็นสิ่งที่ตนแสวงหาหากไม่บรรลุจะรู้สึกว่าล้มเหลวและหมดศรัทธาในชีวิต
ดังนั้น “การแข่งขันกันในวงล้อ” เป็นปัญหาสังคมใหญ่ของจีนที่ต้องหาแนวทางจัดการ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับการกดดันหลายด้าน และกลายเป็นประเด็นปัญหาสังคมหนึ่งที่รอการแก้ไขจากรัฐบาล