xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ‘คาราวานม้าค้าใบชายุคโบราณ’ กลายเป็น ‘ม้าเหล็กเร็วสูง’ แห่งเส้นทางแพรไหมยุคศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ซ้าย) ขบวนรถไฟความเร็วสูงบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว และป้ายสถานีผู้เอ่อร์ (ขวา) ก้อนหินแกะสลักชื่อสถานีน่าเต่อหลี่ และเส้นทางม้าค้าชาสมัยโบราณ (ภาพ MGR CHINA)
ระหว่างเดินทางไปบ่อหาน เพื่อทัศนศึกษาด่านรถไฟจีน-ลาว คณะสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมโครงการ “Experiencing China-Laos Railway in Yunnan” ได้แวะลงสถานีผู่เอ่อร์เพื่อชมเมืองชาผู่เอ่อร์ที่มีชื่อเสียงของมณฑลยูนนาน ที่สำคัญเมืองผู่เอ่อร์แห่งนี้มีเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับ เส้นทางค้าใบชาบนหลังม้าสมัยโบราณ ที่จีนเรียกว่า “ฉาหม่ากู่เต้า” (茶马古道) หรือ “เส้นทางแพรไหมสายตะวันตกเฉียงใต้ หรือเส้นทางแพรไหมสายใต้ในอดีต” ซึ่งเป็นระเบียงแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประชาชนในภาคตะวันตกเฉียงใต้จีนยุคโบราณ


ในวันนี้ เมืองผู่เอ่อร์เป็นที่ตั้งสถานีใหญ่แห่งหนึ่งของ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว สำหรับผู้เขียนแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนการฟื้นชีพเส้นทางแพรไหมโบราณที่กินใจทีเดียว

(ซ้าย) ก้อนหินมหึมาจารึกชื่อ “สถานีม้าขนส่งใบชา น่าเค่อหลี่” (ขวา) ก้อนหินแกะสลักแผนที่สเกตช์เส้นทางค้าใบชาบนหลังม้าสมัยโบราณ (ภาพ MGR CHINA)
คณะสื่อได้มาเยี่ยมชม หมู่บ้านน่าเค่อหลี่ (那柯里) ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอปกครองตัวเองชาติพันธุ์อี๋ชาติพันธุ์ฮาหนีและชนพันธุ์ไต และชาติพันธุ์อื่นๆ ของเมืองผู่เอ่อร์ “น่าเค่อหลี่” ชื่อนี้ออกเสียงตามสำเนียงจีนกลาง มาจากภาษาไต ซึ่งทางจีนได้ให้ความหมายโดยรวมคือ ผืนดินที่นาอันอุดมสมบูรณ์ริมสะพานน้อยเคียงสายน้ำไหลริน “น่าเค่อหลี่” ยังมีชื่อเรียกขานอีกชื่อคือ “หม่าคูหลี่” (马哭里) “แห่งที่ม้าร้องไห้”  ทำไมถึงได้ชื่อนี้ ขอบอกเล่าในย่อหน้าต่อไป...

บันไดหินโบราณจากเส้นทางค้าใบชาบนหลังม้ายุคโบราณ (ภาพ MGR CHINA)
“น่าเค่อหลี่” เป็นหนึ่งในสถานีใหญ่ของ “ฉาหม่ากู่เต้า” ที่มีซากโบราณสถานจากยุคค้าขายและแลกเปลี่ยนใบชาบนหลังม้าหลงเหลือและยังอยู่ในสภาพดี ตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน

เส้นทางค้าใบชาบนหลังม้าสมัยโบราณถือกำเนิดจากยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) โลดแล่นสร้างประวัติศาสตร์นับพันกว่าปีจนกลายเป็นตำนานคาราวานม้าขนส่งใบชาไปค้าขายยังดินแดนไกลลิบในภูมิภาคต่างๆ...ที่เรียกขานเป็น “เส้นทางค้าชาบนหลังม้า” นี้เพราะมีใบชาเป็นสินค้าหลัก และมีม้าเป็นพาหนะหลักในการขนส่ง

บริเวณซากโบราณสถานที่ตกทอดจากยุคเส้นทางค้าใบชาบนหลังม้าสมัยโบราณที่หมู่บ้านน่าเค่อหลี่ (ภาพ MGR CHINA)
คณะสื่อได้มายืนดูแผนที่สเกตช์เส้นทางที่แกะสลักบนหินก้อนมหึมาและฟังเรื่องราว “ฉาหม่ากู่เต้า” คาราวานม้าขนส่งใบชาที่ออกจากสถานีใหญ่ในผู่เอ่อร์มีเส้นทางหลักๆ คือ เส้นทางไปปักกิ่ง (โดยผ่านคุนหมิง เฉิงตู ซีอัน) เส้นทางไปเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม) เป็นต้น

ในบันทึกเรื่องราว “ฉาหม่ากู่เต้า” ยังเล่าขานถึงเส้นทางค้าใบชาบนหลังม้าสายยาวไกลที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคยากลำบากและอันตรายที่สุดสายหนึ่ง คือ เส้นทางไปที่ราบสูงทิเบต คาราวานม้าต้องเดินทางไกลถึง 3,600 กว่ากิโลเมตร บุกฝ่าภูมิประเทศป่าเขาไต่ไปตามที่ราบสูงจากน้ำทะเลถึง 3,000-4,000 เมตร ซึ่งเป็นถิ่นที่อากาศบางออกซิเจนน้อย

ทิวทัศน์ธรรมชาติหมู่บ้านน่าเค่อหลี่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์มีลำธารน้อยไหลผ่าน (ภาพ MGR CHINA)
ในบันทึกเล่าว่าฝูงม้าที่ต้องเดินทางขนส่งใบชาและสินค้าอื่นๆ ฝ่าเส้นทางยาวไกลยากลำบาก เมื่อมาถึงสถานีแวะพักของคาราวานม้าในน่าเค่อหลี่ ซึ่งเป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์มีธารน้ำไหลริน ฝูงม้าเมื่อเห็นลำธารน้อยมิรู้ด้วยคิดถึงบ้านเกิดหรือด้วยความเหนื่อยล้า น้ำตาก็รินไหลออกมา ผู้คนจึงเรียกสถานีนี้ว่า “หม่าคูหลี่” ซึ่งหมายถึงว่า “สถานที่ที่ม้าร้องไห้” ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น “น่าเค่อหลี่”

แหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านน่าเค่อหลี่ (ภาพ MGR CHINA)
เส้นทางค้าชาบนหลังม้าสมัยโบราณนี่เอง เป็นบ่อเกิดของชาผู่เอ่อร์  ในสมัยพันปีที่แล้วใบชาที่คาราวานม้าขนส่งนั้นแต่ดั้งเดิมก็เป็นใบชาแห้งทั่วไป ทว่า การรอนแรมไปบนถนนที่ยาวไกลใช้เวลานานนับเดือนผ่านภูมิประเทศหลากหลาย ทำให้ใบชาเสื่อมคุณภาพ เมื่อเจออากาศชื้นก็บูดมีกลิ่นเหม็น ทำให้เกิดการคิดค้นวิธีที่จะทำให้ใบชาคงคุณภาพอยู่ได้นาน นั่นคือการนำใบชาไปผ่านขั้นตอนการหมักซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะที่ชาวจีนโบราณได้คิดค้นขึ้น แล้วอัดเป็นแผ่นหรือก้อนแข็งส่วนใหญ่เป็นรูปทรงกลม ยิ่งเก็บไว้นานใบชาจะเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องสร้างสรรพคุณทางยา คุณสมบัติที่ “ยิ่งเก่ายิ่งรสดีราคาสูง” จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาผู่เอ่อร์ ขณะที่ชาชนิดอื่นๆ คุณภาพรสชาติและความหอมขึ้นกับความสดใหม่ และเสื่อมคุณภาพลงเมื่อเก็บไว้นานๆ

ชาผู่เอ๋อร์ ที่มีเอกลักษณ์ โดยผ่านกระบวนการหมัก อัดเป็นก้อนแข็งส่วนใหญ่เป็นรูปทรงกลม ยิ่งเก่ายิ่งรสดีราคาแพง  (เครดิตภาพ www.puercn.com)
สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ชีพจรของ “ฉาหม่ากู่เต้า” โลดแล่นมาถึงช่วงราวๆ ยุคสาธารณรัฐจีน (ค.ศ.1912-1949) ก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เส้นทางแพรไหมยุคโบราณถูกยุคสมัยกลืนกินไป...


แหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านน่าเค่อหลี่ (ภาพ MGR CHINA)
ฟื้นชีพเส้นทางสายไหม

ขอลัดกาลเวลามาที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็น ยุคของ “ม้าเหล็กเร็วสูง” ขณะนี้จีนสามารถพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่มีอัตราเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสำเร็จก้าวใหญ่ต่อมาคือการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาวทะลุทะลวงภูเขาสูงใหญ่ด้วยการเจาะอุโมงค์นับเกือบ 200 แห่ง จนกระทั่งคณะสื่ออย่างพวกเราได้นั่งรถไฟจีน-ลาวมายืนดูซากถนนโบราณที่คาราวานม้าขนส่งใบชาเคยบุกบั่นผ่านไปมา ได้ย้อนมองจินตนาการถึงเส้นทางแพรไหมในอดีต

โลโก ทางรถไฟจีน-ลาว (ภาพ MGR CHINA)
ตรงทางเข้าหมู่บ้านน่าเค่อลี่ พวกเราได้มายืนดูโบราณสถานคือ “บันไดหิน” ข้างๆ มีป้ายหินขนาดใหญ่แกะสลักข้อความภาษาจีน ว่า “แหล่งวัฒนธรรมในความคุ้มครองระดับชาติ : ซากถนนโบราณ “ฉาหม่ากู่เต้า” แห่งมณฑลยูนนานช่วงน่าเค่อหลี่”


ป้ายหินขนาดใหญ่แกะสลักข้อความภาษาจีนว่า “แหล่งวัฒนธรรมในความคุ้มครองระดับชาติ : ซากถนนโบราณ “ฉาหม่ากู่เต้า” แห่งมณฑลยูนนานช่วงน่าเค่อหลี่” (ภาพ MGR CHINA)
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ปี ค.ศ.2008 สีจิ้นผิง ซึ่งขณะนั้นยังเป็นรองประธานาธิบดี ได้มาเดินทางมาเยือนหมู่บ้านน่าเค่อหลี่ สีได้ก้าวขึ้น “บันไดโบราณที่คาราวานม้าขนส่งใบชาเคยเหยียบย่ำไปมานับพันปี” แห่งนี้ 8 ก้าว และก้าวลงมา...


โต๊ะและเก้าอี้ ที่สีจิ้นผิงและชาวบ้านที่หมู่บ้านน่าเค่อหลี่ นั่งล้อมวงคุยกัน สีจิ้นผิง แนะนำแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นสร้างชีวิตที่ดีกว่า (ภาพ MGR CHINA)
ระหว่างเยี่ยมเยือนหมู่บ้านน่าเค่อหลี่ สี จิ้นผิง ได้พูดคุยกับชาวบ้านหลากหลายชาติพันธุ์อย่างเป็นกันเอง ให้สามัคคีกลมกลืนร่วมมือกันสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกระตุ้นเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นให้ใช้ตำนานอันเลื่องลือในอดีตของ “ฉาหม่ากู่เต้า” มาเป็นธีมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

ภาพถ่ายบนผนังบ้าน 18 พ.ย.2008  สีจิ้นผิง (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี) นั่งคุยกับชาวบ้านที่หมู่บ้านน่าเค่อหลี่อย่างเป็นกันเอง (ภาพ MGR CHINA)
4 ปีต่อมา...ในวันที่ 15 พ.ย.2012 สีจิ้นผิงได้ครองตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครองอำนาจสูงสุดปกครองแผ่นดินจีน และประกาศความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative (BRI) ฟื้นเส้นทางแพรไหมแห่งยุคศตวรรษที่ 21

ในเดือน ธ.ค. ปี 2016 จีนเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว และเปิดใช้เส้นทางในปลายปี 2021 และแล้ว ‘คาราวานขนส่งใบชาบนหลังม้ายุคโบราณ’ ก็เหมือนดั่งได้ฟื้นชีพขึ้นในโฉมใหม่เป็น ‘ม้าเหล็กเร็วสูง’ แห่งเส้นทางแพรไหมยุคศตวรรษที่ 21 โดยเมืองผู่เอ่อร์ก็เป็นหนึ่งในที่ตั้งสถานีสำคัญของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว


แหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านน่าเค่อหลี่ (ภาพ MGR CHINA)


กำลังโหลดความคิดเห็น