คณะนักวิจัยของจีนได้พัฒนาแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ขับเคลื่อนด้วยอัลกอริทึมการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) เพื่อพยากรณ์พัฒนาการและรูปแบบของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง
คณะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้การคาดการณ์ที่มีความแม่นยำเป็นสิ่งสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมและการลดความเสี่ยง
คณะนักวิจัยจากสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้พัฒนาแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อพยากรณ์รูปแบบเชิงพื้นที่เกี่ยวกับความผิดปกติของอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยอาศัยเทคโนโลยีโครงข่ายประสาทเทียม
หวงผิง นักวิจัยจากสถาบันฯ และผู้เขียนผลการศึกษานี้ ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์บรรยากาศ (Advances in Atmospheric Sciences) เมื่อไม่นานนี้ กล่าวว่า การศึกษานี้แสดงศักยภาพของเอไอในการพัฒนาการพยากรณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์สำคัญ เช่น เอลนีโญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก
แบบจำลองเอไอมีความแม่นยำเหนือกว่าแบบจำลองพลวัตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการพยากรณ์ความผิดปกติของอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรแนวตะวันตก-กลางในมหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากนั้น การศึกษานี้ยังชี้ว่าแบบจำลองไฮบริดซึ่งเกิดจากการผสานการพยากรณ์จากทั้งแบบจำลองเอไอและแบบจำลองพลวัตบรรลุเป้าหมายการพยากรณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันตกได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทีมวิจัยวางแผนจะใช้ประโยชน์จากพลังของการเรียนรู้เชิงลึกดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อขยายขอบเขตการประยุกต์ใช้แบบจำลองเอไอด้านการพยากรณ์อากาศตามฤดูกาล โดยมีเป้าหมายเพื่อการแจ้งเตือนปรากฏการณ์สำคัญทางสภาพอากาศที่มีความรวดเร็วและความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ที่มา สำนักข่าวซินหัว
ภาพ สำนักข่าวเอเอฟพี