ณ ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรฮาต๋า ซึ่งเป็นศูนย์กลางจัดจำหน่ายผักผลไม้ที่พลุกพล่านที่สุดในมณฑลเฮยหลงเจียงทางตอนเหนือสุดของจีน มีรถบรรทุกทุเรียน 1,000 กล่อง ถูกรุมล้อมด้วยพ่อค้าแม่ขายที่มารอรับสินค้า โดย “เสี่ยวเหิง” เป็นพ่อค้าคนหนึ่งที่ร่วมรอรับทุเรียน เพื่อขนขึ้นรถส่วนตัวพร้อมกับผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ อย่างฝรั่ง และมะม่วง
เสี่ยวเหิง ผู้ค้าขายผลไม้มานานกว่า 10 ปี เล่าว่า เขาเริ่มต้นขายผลไม้ปี 2013 ตอนนั้นชาวฮาร์บินชอบรับประทานทุเรียนกันแล้ว แต่ยังมีของขายไม่มากและราคาไม่ถูก แถมการขนส่งที่ใช้เวลานานทำให้ทุเรียนที่ขนส่งมาถึงเปลือกแห้งและดำ ต่างจากปัจจุบันที่ล่าสุดได้ยินว่าขนส่งด้วย “ขบวนด่วน” บนทางรถไฟจีน-ลาว ทั้งมีคุณภาพดีและราคาลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนๆ
ย้อนกลับเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผลไม้เมืองร้อนจากไทยที่วางจำหน่ายในนครฮาร์บิน เมืองเอกของเฮยหลงเจียง ต้องผ่านมือเหล่าพ่อค้าคนกลางในกว่างโจว เสิ่นหยาง ปักกิ่ง และอื่นๆ เพราะไม่มีช่องทางซื้อขายโดยตรง ทำให้ราคาพุ่งสูง ขณะเดียวกัน รูปลักษณ์และรสชาติของผลไม้แย่ลงเพราะใช้ระยะเวลาขนส่งยาวนาน
ทว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนช่วยลดระยะเวลาขนส่งลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพของผลไม้นำเข้าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้แต่เฮยหลงเจียงที่เป็นมณฑลทางเหนือสุดของจีน ยังสามารถเพลิดเพลินกับผลไม้เมืองร้อนเลิศรสที่ส่งมาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย มาเลเซีย และลาว
หากวันนี้ลองเยี่ยมเยือนซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ในนครฮาร์บิน คุณจะได้พบทุเรียนหมอนทองสุกพร้อมรับประทานวางเรียงรายดึงดูดลูกค้ามาเลือกซื้อจำนวนมาก โดยมีราคาช่วงโปรโมชันอยู่ที่ราว 43.8 หยวน (ราว 210 บาท) ต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาค้าปลีกในท้องตลาดอย่างมาก
พนักงานซูเปอร์มาร์เกตแห่งนี้เผยว่า ทุเรียนมีราคาถูกเช่นนี้เพราะต้นทุนการขนส่งลดลง โดยทุเรียนจากไทยถูกขนส่งสู่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อนจะถูกกระจายไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ที่นี่มีบริการปอกเปลือกทุเรียนฟรีและตรวจดูคุณภาพทุเรียนก่อนจ่ายเงิน เพื่อรับประกับความสดใหม่ทุกลูก
อนึ่ง ทางรถไฟจีน-ลาว ถือเป็นโครงการสำคัญของการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) ที่มีคุณภาพสูง และกลายเป็นช่องทางโลจิสติกส์ที่สะดวกระหว่างจีนและอาเซียน โดยทางรถไฟสายนี้ช่วยให้การขนส่งทุเรียนจากไทยถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถส่งออกทุเรียนที่สุกมากขึ้นและรสชาติดีขึ้นได้
ปัจจุบันไทยมีทุเรียนกว่า 200 สายพันธุ์ และถือเป็นประเทศส่งออกทุเรียนสดมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2022 ครองส่วนแบ่งร้อยละ 96 ของทุเรียนไทยส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.05 แสนล้านบาท)
ด้าน “ขบวนด่วน” บนทางรถไฟจีน-ลาว ช่วยลดระยะเวลาขนส่งทุเรียนสู่จีนอย่างมาก โดยกลุ่มสื่อไทยรายงานว่า “รถไฟขบวนทุเรียน” จากสถานีมาบตาพุดไปนครกว่างโจวของจีน ทำสถิติขนส่งผลไม้จากไทยสู่จีนเร็วที่สุดครั้งใหม่ และการเน่าเสียระหว่างการขนส่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เสี่ยวเหิงเผยทิ้งท้ายว่า เขาขายทุเรียนได้หลายร้อยลูกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเขายังมี “บริการหลังการขาย” อย่างเช่นการแลกคืนทันทีหากพบทุเรียนด้อยคุณภาพ ขณะการรับประกันอุปทานและการพัฒนาโลจิสติกส์ช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่เสี่ยวเหิง และเกื้อหนุน “กลิ่นหอม” ของทุเรียนไทยขจรขจายทั่วดินแดนตอนเหนือสุดของจีน
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว