xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นถกปัญหาโลกร้อน มะกันเล็งถอดจีนจากสถานภาพ “ชาติกำลังพัฒนา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายจอห์น แคร์รี ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ ทักทายกับนายเซี่ย เจิ้นหวา ทูตพิเศษของจีน ก่อนเริ่มการเจรจาที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ก.ค.2566 - ภาพ : VCG
สหรัฐฯ-จีนรื้อฟื้นการเจรจาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการภาวะโลกร้อน แต่ผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรเห็นแวว สหรัฐฯ มุ่งกดดันจีนพ้นสถานภาพ "ชาติกำลังพัฒนา"

ชาติผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกทั้งสองระงับการเจรจากันในเรื่องนี้มาตั้งแต่กลางปี 2565 จากความบาดหมางกรณีนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน จนกระทั่งนาย จอห์น แคร์รี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางมากรุงปักกิ่งด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นการเยือนครั้งที่ 3 ในฐานะทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรื้อฟื้นการเจรจา


นายแคร์รี หารือกับนายเซี่ย เจิ้นหวา ทูตพิเศษฝ่ายจีนราว 4 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) เขาระบุในทวิตเตอร์ภายหลังการหารือว่า ชาติทั้งสองจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษจากถ่านหินและก๊าซมีเทน โดยวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศเรียกร้องให้ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสองทำงานร่วมกันเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้น

ด้านเหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนแถลงว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาท้าทายที่มวลมนุษยชาติเผชิญร่วมกัน และจีนพร้อมจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากการหารือระหว่างทูตพิเศษแล้ว ยังจะมีการหารือในระดับเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 3 วันในสัปดาห์นี้อีกด้วย


นายแคร์รี ได้รับการต้อนรับฉันมิตร ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรบางคนเตือนว่า การมาของนายแคร์รี ครั้งนี้อาจมุ่งกดดันให้จีนละทิ้งสถานภาพ "ชาติกำลังพัฒนา" เมื่อดูจากการให้สัมภาษณ์ของนาย เจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า จีนใช้สถานภาพนี้มานานเพื่ออ้างความชอบธรรมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณที่สูง

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพิ่งผ่านร่างกฎหมายการหาทางถอดสถานภาพดังกล่าวของจีนเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา


จีนในฐานะ "ชาติกำลังพัฒนา" ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนถึงเพดานสูงสุดภายในปี 2573 จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงมาจนไปสู่ภาวะการปล่อยคาร์บอนอย่างสมดุล (carbon neutrality) ภายในปี 2603

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญจีน ข้ออ้างของสหรัฐฯ ที่ว่า จีนไม่เป็นชาติกำลังพัฒนาอีกต่อไปแล้วนั้นมีจุดประสงค์เพื่อกีดกันโอกาสในการพัฒนาประเทศจีน จึงเท่ากับเป็นการนำประเด็นสภาพอากาศมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กำลังเข้มข้นในหลายด้าน เช่นการค้า และเทคโนโลยีนั่นเอง

ที่มา : โกลบอลไทมส์/ เอเอฟพี



กำลังโหลดความคิดเห็น