ทางการจีนแถลงอัตราเติบโตเศรษฐกิจ หรือจีดีพีระหว่างครึ่งปีแรกขยายตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์ โดยเศรษฐกิจจีนได้ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่แล้วในครึ่งปีแรกนี้ ทว่า ด้วยเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ซับซ้อนมาก ทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนของจีนยังไม่แข็งแรงดี วันเดียวกัน มีการแถลงจีดีพี “ไตรมาสที่สอง” ขยายตัวต่ำกว่าที่เป้าที่วางไว้
โฆษกสำนักงานสถิติแห่งรัฐจีน ฟู่หลิงฮุย แถลง (17 ก.ค.) อัตราเติบโตเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัว 5.5เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 59.3 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 8.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วชัดเจนเมื่อเทียบกับอัตรา 3.3 เปอร์เซ็นต์ของปีที่แล้ว และขยายเร็วกว่าอัตราเติบโต 4.5 เปอร์เซ็นต์ของไตรมาสแรกของปีนี้
โฆษกสำนักสถิติจีนกล่าวว่า “โดยทั่วไปแล้ว เศรษฐกิจจีนได้ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติเต็มที่แล้วในครึ่งปีแรกนี้ ความต้องการจีนได้ค่อยๆ ฟื้นตัวในขณะที่สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและการเมืองโลกมีความซับซ้อนมาก ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แข็งแรง ทำให้พื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในประเทศเผชิญความไม่แน่นนอน ในครึ่งปีหลังจีนยังต้องออกแรงเพื่อขับดันความต้องการภายในประเทศมากกว่านี้ อีกทั้งบ่มเพาะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ”
ในเช้านี้ (17 ก.ค.) กลุ่มสื่อได้รายงานการแถลงการเติบโตเศรษฐกิจจีนระหว่างไตรมาสที่สอง (ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย.) ขยับขึ้นจากไตรมาสแรกเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 6.3 เปอร์เซ็นต์ แม้เป็นอัตราขยายตัวที่เร็วขึ้นจากระดับ 4.5 เปอร์เซ็นต์ของไตรมาสแรก แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้คือ 7.3 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในอัตรานี้ถือว่าแรงสุดนับจากไตรมาสสองของปี 2021
กลุ่มค่ายสื่อต่างๆ ชี้ว่า จริงๆ แล้วตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ปรากฏเมื่อไม่นานมานี้แสดงถึงการฟื้นตัวที่ไม่แน่นอนหลังยุคโควิด ในช่วง 3 ปีที่เกิดโรคโควิดระบาดนั้นการส่งออกตกต่ำมากเพราะความต้องการทั้งภายในและภายนอกฝ่อแฟบ ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกอับมานานก็ยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่น สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ไม่สู้ดีนักนี้ทำให้เหล่าผู้กำหนดนโยบายต้องออกแรงอย่างหนักดั่งเข็นครกขึ้นเขาที่จะดันเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกให้ไปต่อได้อย่างมั่นคง
ภารกิจฟื้นเศรษฐกิจมังกรในครั้งนี้หนักหน่วงไม่น้อย เนื่องจากผู้นำจีนต้องรีบสกัดอัตราว่างงานที่กำลังสูงขึ้นๆ โดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันต้องระวังอย่างมากว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจก่อความเสี่ยงหนี้ และเกิดความบิดเบือนเชิงโครงสร้างได้
สำหรับแนวโน้มที่กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และกลุ่มวงในที่ใกล้ชิดกับการกำหนดนโยบายเก็งกันในขณะนี้คือ ทางการจีนอาจระดมมาตรการกระตุ้นมากขึ้นอีก ทั้งภาคการใช้จ่ายการเงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพิ่มการสนับสนุนภาคบริษัทเอกชนและผู้บริโภค ผ่อนปรนนโยบายอสังหาฯ บางด้าน และถึงแม้จะมีการระดมมาตรการเหล่านี้มาใช้จะไม่เห็นผลอย่างรวดเร็ว
ขณะนี้วงในกำลังจับตาการประชุมของกลุ่มผู้นำสูงสุดในคณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโรที่จะประชุมกันในเดือนนี้
กลุ่มนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชี้ว่าจีนจะจัดมาตรการเบาะๆ แทนที่จะใช้มาตรการที่แรงเนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดและยังมีความวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงหนี้
แต่หากการชะลอตัวแย่ลงไปกว่านี้จะทำให้ปัญหาว่างงานเลวร้ายมากขึ้น และโหมกระพือความเสี่ยงภาวะเงินฝืดซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่นของภาคเอกชน
ขณะนี้อัตราว่างงานจีนในกลุ่มอายุ 16-24 ปี ทำสถิติใหม่ที่ 21.3 เปอร์เซ็นต์ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นจาก 20.8 เปอร์เซนต์ ในเดือน พ.ค.
ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานผลการสำรวจอัตราว่างงานในเขตเมืองใหญ่ของจีน เท่ากับ 5.3 เปอร์เซ็นต์ระหว่างครึ่งปีแรกของปี 2023 เป็นอัตราลดลง 0.2 เปอร์เซ็นต์เทียบกับไตรมาสแรก ในการสำรวจแบบรายเดือนระบุว่าอัตราดังกล่าวไม่เปลี่ยนไปจากเดือน พ.ค. คือ 5.2 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลสถิติระบุว่า เฉพาะเดือน มิ.ย.เดือนเดียว ยอดค้าปลีกจีน โต 3.1 เปอร์เซ็นต์ ตกฮวบจากระดับ 12.7 เปอร์เซ็นต์ ในเดือน พ.ค. ขณะที่กลุ่มวิเคราะห์คาดว่ายอดค้าปลีกน่าจะขยายตัวที่ 3.2 เปอร์เซ็นต์
ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนที่แล้วกลับขยายตัวรวดเร็วเกินคาด ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์ จากระดับ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ในเดือน พ.ค. ขณะที่ความต้องการยังซึมเซาท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังยุคโควิดที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้
ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงนี้ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอกชนจะระมัดระวังการใช้จ่าย หันมาเก็บเงินออมและอยากจ่ายหนี้ให้หมดๆ มากกว่าที่จะจับจ่ายหรือลงทุนใดๆ
ที่มาข่าว
China's GDP expands5.5pct in H1
China’s first-half 5.5% GDP growth fastest among major global economies: NBS spokesperson
China frail Q2 GDP growth puts pressure for more policy support (Reuter)
China GDP: slower second-quarter growth fans recovery fears and loosening hope