xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights&:ดรามาแร่หายากในจีนกับการจำกัดส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชิปเซมิคอนดักเตอร์ CPU บนภาพธงชาติจีนและสหรัฐฯ (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล


ประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ เกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยีชิป (Chips) ที่เป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนหัวใจสำคัญของสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ โดยมีสหรัฐฯ เป็นพี่ใหญ่ถือครองเทคโนโลยีชิปอันดับหนึ่งของโลก ล่าสุดนี้ไบเดน อาจจะกดดันจีนเพิ่มเติมในด้านเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไฮเทค โดยจะลดการส่งออกชิปให้จีนเพิ่มเติมในเดือน ก.ค.นี้ และคราวนี้จีนดูเหมือนจะไม่นิ่งเฉยและเลือกที่จะตอบโต้กลับเช่นกัน

ในวันที่ 3 ก.ค. จีนประกาศจำกัดการส่งออกแร่หายากที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ แกลเลียม (Ga) และเจอร์เมเนียม (Ge) ซึ่งแร่หายาก 2 ชนิดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมต้นน้ำการผลิตชิป และจีนเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุ 2 ชนิดนี้มากที่สุดในโลก โดยจีนมีแกลเลียมและเจอร์เมเนียมคิดเป็นเกือบ 94% ของทั้งโลก มาตรการจำกัดการส่งออกแร่ธาตุสำคัญ 2 ตัวนี้จะมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป

การควบคุมการส่งออกแร่หายากของจีนครั้งนี้นับเป็นหมัดใหญ่ตอบโต้สหรัฐฯ! มาตรการตอบโต้ของจีนจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฮเทคทั่วโลก และความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น

แร่หายาก 2 ชนิดที่ถูกจำกัดการส่งออกนี้มีความสำคัญมาก เช่น แกลเลียมเป็นแร่ธาตุจำเป็นสำหรับการผลิตแผงวงจรรวมคุณภาพสูง โฟโตไดโอดและเรดาร์ เป็นต้น แร่ธาตุหายาก 2 ชนิดนี้ยังมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) พลังงานสะอาดใหม่และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบหลักสำหรับเซมิคอนดักเตอร์รุ่นที่ 3 คือแกลเลียม

ในปีที่แล้วกำลังการผลิตแกลเลียมทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 300 ตัน จีนมีกำลังการผลิตสูงถึง 290 ตัน แร่ 2 ชนิดนี้จีนมีปริมาณสำรองอยู่สูงถึง 68% ของทั่วโลก ดังนั้นการจำกัดการส่งออกแร่ 2 ชนิดนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตชิปของสหรัฐฯ โดยตรงเพราะเป็นแร่จำเป็นที่ต้องใช้ในการผลิต

ธงชาติจีนบนตารางธาตุ แกลเลียม และเจอร์เมเนียม (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
นักวิชาการจีนมองว่า การที่จีนจำกัดการส่งออกแร่หายากจะนำหายนะมาสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ แต่สำหรับจีนจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก เพราะการออกมาตรการจำกัดการส่งออกแร่หายากของจีนไม่ใช่แค่เพิ่งเริ่มต้น ก่อนหน้านี้ในปี 2020 จีนได้เคยออกกฎหมายควบคุมการส่งออกแร่หายากหลายรายการมาแล้ว เช่น แร่แกลเลียมไนไตรด์ แร่แกลเลียมฟอสไฟด์ และแร่แกลเลียมอาร์เซไนด์ ดังนั้นมารอบนี้จะจำกัดการส่งออกก็ไม่ใชเรื่องแปลก

แร่ธาตุหายากเหล่านี้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย นอกจากในเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ ยังใช้ในด้านการทหารด้วย ดังนั้นการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายากของจีนอีกครั้งชัดเจนว่าเป็นการยกระดับสงครามการค้าด้านเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ

จากข้อมูลของการสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ (USGS) รายงานว่าปริมาณสำรองของแร่ธาตุหายากทั่วโลกอยู่ที่ 120 ล้านตันในปี 2021 และในปีนั้นจีนผลิตได้ 44 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณ 60% ของทั่วโลก ในขณะที่สหรัฐฯ ผลิตแร่หายากได้เพียง 43,000 ตันเท่านั้น ดังนั้นที่ผ่านมาแร่หายากส่วนใหญ่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน ในปี 2019 เพียงปีเดียวธาตุแกลเลียมและเจอร์เมเนียมที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนคิดเป็น 80% และ 58% ของการนำเข้าทั้งหมด!

ตั้งแต่ปี 2018 สหรัฐฯ ได้เปิดการโจมตีทางการค้ากับจีนหลายครั้ง เช่น เพิ่มอัตรากำแพงภาษีจากสินค้าที่นำเข้าจากจีนและห้ามบริษัทไฮเทคของสหรัฐฯ อย่าง Nvidia ไม่ให้ส่งออกชิประดับไฮเอนด์ไปจีน การกักกันจีนในด้าน AI และสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นอย่างชัดเจน ตั้งกฎเกณฑ์กำแพงต่างๆ และข้อจำกัดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ กับจีน จีนมองว่าได้ทำลายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเติบโตของจีนอย่างรุนแรง

หมัดที่จีนต่อยกลับอย่างการจำกัดส่งออกแร่หายากจะทำให้ทั่วโลกขาดแคลนแร่ธาตุวัตถุดิบ เกิดการกักตุน ผลกระทบที่ต่อเนื่องจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอุตสาหกรรมไฮเทคทั่วโลกสูงขึ้น

สำหรับการออกมาตรการจำกัดการส่งออกแร่หายาก 2 ตัวของจีนในคราวนี้ จีนมีกฎหมายรองรับ สำหรับกฎหมายในจีนได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป โดยกฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า "กฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" เนื้อหาหลักคือการปกป้องผลประโยชน์ ความปลอดภัยของประเทศในด้านต่างๆ ความเป็นอธิปไตยของจีนที่ภายนอกไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ เป็นต้น ดังนั้นการกดดันจากสหรัฐฯ ด้านอุตสาหกรมไฮเทคในครั้งนี้ จีนได้ยกกรอบกฎหมายใหม่นี้มาตอบโต้ เพราะถือว่าสิ่งที่สหรัฐฯ กำลังปฏิบัติต่อจีนอยู่เป็นพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์การพัฒนาของจีน โดยจีนพยายามบอกว่าไม่ใช่การแก้แค้น แต่เป็นความต้องการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเองภายใต้กฎหมายที่มีอยู่เท่านั้น!

รองนายกรัฐมนตรี เหอลี่เฟิง (ขวา) และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ระหว่างพบปะกันที่เรือนรับรองเตี้ยวอี้ว์ไถ ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2023 (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
เนื่องจากการขาดแคลนของแร่หายากทำให้หลายประเทศกำหนดให้แกลเลียมและเจอร์เมเนียมเป็นทรัพยากรเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ สหรัฐฯ ได้ลดการทำเหมืองเจอร์เมเนียมอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี 1984 และได้ปกป้องเจอร์เมเนียมในฐานะทรัพยากรสำรองของชาติ แสดงว่าของสหรัฐฯ มีสำรองอยู่แต่ไม่ขุดนำมาใช้ ส่วนจีนกลายเป็นซัปพลายเออร์แร่หายากสำคัญของโลกเพราะยังมีการขยายการขุดเหมืองอยู่ และหากจีนไม่ส่งออกแร่หายากแกลเลียมและเจอร์เมเนียม โรงงานผลิตชิปในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะไม่สามารถผลิตชิปแบบใหม่ขนาด 90 นาโนเมตรได้ และชิปขนาดเล็กกว่านั้นที่ล้ำกว่าอย่างชิปแบบ 5 นาโนเมตรคงผลิตไม่ได้เช่นกัน

ชาวเน็ตและนักวิชาการจีนที่เห็นด้วยกับมาตรการตอบโต้ของรัฐบาลจีน มีอยู่ไม่น้อย คอมเมนต์ไปในแนวเดียวกันว่าคนที่ถูกบีบคอจริงๆ คือสหรัฐฯ และยุโรปที่จะขาดแคลนวัตถุดิบทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าไฮเทคและส่งออกได้ จีนเองก็สื่อกับชาวโลกว่าจีนไม่ได้งดการส่งออกแต่เป็นการจำกัดปริมาณส่งออก โดยบริษัทจีนที่จะทำการส่งออกต้องทำเรื่องรายงานและได้รับอนุมัติจากทางการก่อนถึงจะสามารถส่งออกได้ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงทางทรัพยากรภายในประเทศ

จะเห็นได้ว่าแร่หายากเป็นเครื่องมือพื้นฐานและอยู่ในมือจีน ทำให้จีนมีอำนาจการต่อรองสูง ในขณะเดียวกัน ห่วงโซ่อุตสาหกรรมหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็เริ่มเสื่อมถอย นอกจากผลิตภัณฑ์ขั้นกลางและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทางอุตสาหกรรมดั้งเดิมของจีนแล้ว จีนยังมีความสามารถเพิ่มขึ้นในด้านการผลิตอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เทคโนโลยีการสื่อสาร เรือ การบินและอวกาศ พลังงานใหม่และยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นจีนไม่ได้อยู่ในสถานะลูกไก่ในกำมืออีกต่อไป

เยลเลน (Janet L. Yellen) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้เยือนจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 6-9 ก.ค.ที่เพิ่งผ่านไป ได้เน้นย้ำถึงการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ “ไม่สามารถแยกออกจากกันและตัวใครตัวมันได้” เพราะหากจีนและสหรัฐฯ ตัดความร่วมมือกันจะนำมาซึ่งหายนะของทั้ง 2 ประเทศและกระทบกับความมั่นคงทั่วโลก ทั้ง 2 ประเทศต้องลดการเข้าใจผิดระหว่างกัน โดยภาพรวมการเยือนจีนของเยลเลนในครั้งนี้ดูเหมือนจะลดความตึงเครียดของบรรยากาศความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศไปได้บ้าง แต่อะไรใดๆ ก็ไม่แน่นอน ดรามานี้ยังคงมีอีกยาว และเรื่องแร่หายากที่จีนจะจำกัดการส่งออก จะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้เริ่มสร้างความตื่นตระหนกและเริ่มมีการกักตุนแร่หายากดันราคาพุ่งสูงกันไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น