เยอรมนีประกาศแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีน ยกเลิกแนวทางปฏิบัติในสมัยนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ซึ่งให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติทั้งสองมาเป็นอันดับแรก
คณะรัฐมนตรีแดนเบียร์ให้การอนุมัติแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีน ซึ่งเป็นเอกสารความยาว 64 หน้า เมื่อวันพฤหัสฯ (13 ก.ค.) โดยเยอรมนีเน้นย้ำในแผนยุทธศาสตร์ว่า ต้องการรักษาความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับจีนต่อไป ขณะเดียวกัน ต้องการลดการพึ่งพาจีนในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ด้วยการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้หลากหลายขึ้น เพื่อเป้าหมายคือการลดความเสี่ยง มิใช่การตัดขาดจากห่วงโซ่เศรษฐกิจของจีนเสียทีเดียว
เยอรมนีให้เหตุผลที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับจีนว่า แม้จีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาท้าทายในโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด แต่ประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากการขยายบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งทำให้จีนมีการชิงดีชิงเด่นและกล้าแสดงออกมากขึ้นในการพยายามเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกซึ่งอยู่บนพื้นฐานของกติกา อันจะส่งผลต่อความมั่นคงในโลก นอกจากนั้น จีนยังกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยของเยอรมนี และทำให้จีนไม่มีความน่าเชื่อถือว่าจะสนับสนุนอธิปไตยของยูเครน พร้อมกับเตือนจีนอย่าใช้กำลังทหารผนวกไต้หวัน โดยระบุว่า เยอรมนีจะส่งเสริมความร่วมมือกับชาติหุ้นส่วนและมีบทบาททางทหารมากขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต่อไป
นับเป็นครั้งแรกที่ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปอย่างเยอรมนีมีการประกาศยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีน ซึ่งเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลผสม 3 พรรคภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ที่ให้ไว้ เมื่อเข้าบริหารประเทศในปลายปี 2565 โดยจัดทำขึ้นตามแนวทางของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเยอรมนีเพิ่งประกาศไปเมื่อหนึ่งเดือนก่อน
นักวิเคราะห์จับตาว่า เยอรมนีจะสามารถสร้างสมดุลได้เพียงใดระหว่างการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับการสกัดการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกในหมู่ชาติตะวันตก
จีนเป็นชาติคู่ค้าสำคัญที่สุดของเยอรมนี โดยการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างกันมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านยูโรในปี 2565 นอกจากนั้น จีนยังเป็นตลาดสำคัญของบริษัทเยอรมนีรายใหญ่ เช่น โฟล์กสวาเกน และบีเอ็มดับเบิลยู
อย่างไรก็ตาม เยอรมนียังพึ่งพาจีนมากเกินไปในด้านเทคโนโลยีการแพทย์และเภสัชกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนโลหะและแร่ธาตุหายาก รวมทั้งแบตเตอรี่ลิเทียมซึ่งใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า และส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์
ที่มา : รอยเตอร์ / เอพี